...

“เขากะลา” ที่ไม่เกี่ยวกับ UFO
“เขากะลา” ที่ไม่เกี่ยวกับ UFO
เรื่องและภาพ : ปริวรรษ เจียมจิตต์ – นักโบราณคดีปฏิบัติการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
เขากะลา ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ สภาพเป็นภูเขาหินปูนทอดตัวยาวในแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ เขากะลามีหลายยอดเขา และมีภูเขาอื่น ๆ ตั้งอยู่โดยรอบ ได้แก่ เขาดิน ซึ่งเป็นภูเขาลูกโดด ลักษณะการก่อตัวของภูเขาเป็นดินอัดแน่นเป็นเนื้อเดียวตั้งอยู่ทางที่ราบด้านทิศตะวันตกของเขากะลา, เขาผักไร เป็นภูเขาหินปูนลูกเล็กตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และเขาสนามชัยซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขาหินปูนเช่นกัน หินปูนที่พบในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น อยู่ในช่วงอายุทางธรณีกาล คือ ยุคเพอร์เมียน หรือราว ๒๙๙ - ๒๕๑ ล้านปีมาแล้ว
การสำรวจทางโบราณคดีบริเวณเขากะลา โดย ปพนพัชร์ สุขเจริญศิริชัย นักโบราณคดีอิสระ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ คณะสำรวจของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีประเทศไทย กองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ และคณะนักโบราณคดีของกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ประกอบด้วยเจตน์กมล วงษ์ท้าว สรธัช โรจนารัตน์ และปริวรรษ เจียมจิตต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ พบแหล่งโบราณคดีถึง ๑๗ แห่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านชอน ๑, แหล่งโบราณคดีบ้านชอน ๒, แหล่งโบราณคดีซับกระโดน, แหล่งโบราณคดีซับผักกาด, แหล่งโบราณคดีธารลำไย ๑, แหล่งโบราณคดีธารลำไย ๒, แหล่งโบราณคดีพุวิเศษ, แหล่งโบราณคดีพุหว้า ๑, แหล่งโบราณคดีพุหว้า ๒, แหล่งโบราณคดีพุซาง, แหล่งโบราณคดีบ่อน้ำทิพย์, แหล่งโบราณคดีพบที่สำนักสงฆ์บ่อน้ำทิพย์ - วัดป่าพุซาง, แหล่งโบราณคดีบ้านเขาดิน ๑, แหล่งโบราณคดี บ้านเขาดิน ๒, แหล่งโบราณคดีพุตาฉิ่ง, แหล่งโบราณคดีพุตาเมือง, และแหล่งโบราณคดีบ้านปากดง พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา สีส้ม สีนวล สีดำ บางชิ้นมีการทาน้ำดินสีแดง และก้อนดินเผาไฟ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สามารถพบได้ในทุก ๆ แหล่งโบราณคดีบริเวณเขากะลาแห่งนี้ กำหนดอายุเบื้องต้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก แหล่งโบราณคดีโดยรอบเขากะลา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนระดับหมู่บ้านเกษตรกรรม ตั้งที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ราบเชิงเขากะลา บางแหล่งอยู่บนที่ราบลอนลาด ไม่นิยมอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่ม คงเป็นเพราะการตั้งถิ่นฐานบนที่สูงกว่าดังกล่าว เป็นการป้องกันมิให้ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากอุทกภัย ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำนั้นคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะโดยทั่วไปของดินบริเวณที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเป็นดินร่วนปนลูกรัง ดินร่วนปนกรวด ดินเหนียวปนลูกรัง และปูนมาร์ล ที่ผุพังมาจากบนภูเขา ซึ่งมีลักษณะธรณีสัณฐานเป็นภูเขาหินปูน
ปัจจัยสำคัญที่มีต่อการตั้งถิ่นฐานของคนโบราณที่อาศัยอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้ คือ แหล่งน้ำใต้ดิน คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากการสะสมตัวของน้ำที่ไหลผ่านรอยแตกหรือ กัดกร่อนของชั้นหินปูนลงไปสะสมตัวอยู่ใต้ดิน และผุดขึ้นมาตามตาน้ำ ดังปรากฏตามชื่อหมู่บ้านในแถบนี้จะมีชื่อขึ้นต้นว่า พุ, ซับ, และชอน (Capillary water, Spring) ซึ่งการเลือกตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำใต้ดินอันเป็น ต้นน้ำของลำธารทุกสายในแถบนี้ ทำให้รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณรอบเขากะลานั้น “แตกต่าง” จากชุมชนโบราณโดยทั่วไป ซึ่งเลือกที่จะอยู่ใกล้ลำน้ำสายรองในที่ราบ อาจจะเพราะด้วยเหตุผลที่ว่าการอยู่ใกล้ตาน้ำนั้นจะทำให้ชุมชนนั้นได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่สะอาดที่สุดก่อนใคร และไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะแห้ง หรือเน่าเสียก็เป็นได้
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการสำรวจที่ผ่านมา สามารถกำหนดอายุเบื้องต้นได้ว่า แหล่งโบราณคดีบริเวณรอบเขากะลาน่าจะมีพัฒนาการอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก แม้ว่าจะมีการค้นพบเครื่องมือหินขัดในแหล่งโบราณคดีบางแห่ง เช่น ที่แหล่งโบราณคดีพุตาฉิ่ง บนที่ราบเชิงเขาบริเวณทิศเหนือของเขากะลา, แหล่งโบราณคดีพุวิเศษ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขากะลา ก็อาจเป็นของที่ตกทอดมาจนถึงสมัยเหล็ก เพราะแม้จะมีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้วการใช้เครื่องมือหินขัดก็ยังคงมีอยู่
หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าแหล่งโบราณคดีบริเวณรอบเขากะลาส่วนมากมีพัฒนาการอยู่ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านปากดง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเขากะลาไปทางทิศเหนือ ระยะทางราว ๔ กิโลเมตร มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับการโลหกรรมถลุงเหล็กเป็นจำนวนมาก เช่น ตะกรันแร่เหล็ก (ferrous slag), ชิ้นส่วนท่อลมดินเผา (tuyere) และชิ้นส่วนผนังของเตาถลุงโลหะ โบราณวัตถุบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนบ้านปากดง (เทียนศรีประสิทธิ์) เช่น เบ้าหลอมโลหะ, เครื่องมือโลหะ, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนกำไลหิน, ลูกปัดหิน, ลูกปัดแก้ว, ภาชนะดินเผาเต็มใบ, หินดุ, แวดินเผา, ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ จากคำบอกเล่าของคุณครูที่ดูแลห้องเก็บโบราณวัตถุ กล่าวว่าโบราณวัตถุเหล่านี้รวบรวมมาจากพื้นที่ทำการเกษตรในหมู่บ้านปากดง และแหล่งโบราณคดีบ้านปากดง สาเหตุที่พบเนื่องจากมีการใช้รถไถปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรกรรม ทำให้โบราณวัตถุ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ ปะปนขึ้นมากระจายตัวอยู่บนผิวดิน ทำให้ทราบว่าบริเวณพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านปากดงมีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งถลุงโลหะ ผลิตเครื่องมือเหล็ก มีการผลิตภาชนะดินเผา และทอผ้าขึ้นใช้เอง ทำให้ทราบว่ามีบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นช่างฝีมือเฉพาะทางของชุมชน แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของสังคมอันซับซ้อนของชุมชนโบราณรอบเขากะลา
จากการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์ ในบริเวณใกล้เคียงกันรัศมี ๑๐-๑๕ กิโลเมตร พบเมืองโบราณในยุคประวัติศาสตร์ ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้แก่ เมืองโบราณบ้านหนองเนิน, เมืองโบราณหัวถนนกลาง (เมืองสระแก้ว) ที่อยู่ห่างออกจากเขากะลาไปทางทิศตะวันออกระยะทางราว ๑๔ กิโลเมตร, เมืองโบราณคูเมือง (บ้านห้วยดุก) ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ระยะทางราว ๑๒ กิโลเมตร และแหล่งโบราณคดีโคกสำริด ซึ่งเป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่ อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกระยะทางราว ๑๒ กิโลเมตร ซึ่งเมืองโบราณ และแหล่งโบราณคดีเหล่านี้พบหลักฐานเกี่ยวกับการโลหกรรม คงจะเป็นเครือข่ายการผลิตโลหะในสมัยโบราณ
ต่อมาคงจะมีการเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในสมัยอยุธยา จากหลักฐานเศษเครื่องถ้วยจีนแบบเขียนลายสีน้ำเงินและสีดำบนพื้นขาว (เจตน์กมล วงษ์ท้าว นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๕) พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านชอน ๑, แหล่งโบราณคดีบ้านพุวิเศษ, แหล่งโบราณคดีบ่อน้ำทิพย์ (สำนักสงฆ์เขากะลาพญาธรรม), แหล่งโบราณคดีสำนักสงฆ์บ่อน้ำทิพย์ - วัดป่าพุซาง, และแหล่งโบราณคดีบ้านปากดง สอดคล้องกับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงกันอย่างโคกสำริด ที่มีการพบเศษเครื่องถ้วยจีน และเศษเครื่องถ้วยสังคโลก
ดังนั้น เราอาจเห็นภาพรวมของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานชุมชนบริเวณรอบเขากะลา โดยยึดเอาเขากะลาเป็นหมุดหมายสำคัญ หรือจุดสังเกต (landmark) ของชุมชน ในอีกเหตุผลหนึ่งนั้น ภูเขาเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติชั้นดีสำหรับนายพรานผู้หาของป่าล่าสัตว์ ส่วนแหล่งโลหกรรมนั้น มีการขยับขยายออกไปให้ไกลจากต้นน้ำ นั่นอาจเป็นกุศโลบายของคนโบราณในการเลือกใช้พื้นที่เพื่อสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ ดังจะเห็นว่า ชื่อในปัจจุบันคือบ้านปากดง นั่นหมายถึง “ชายป่า” การทำโลหกรรมบริเวณดังกล่าวซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล จึงสามารถนำต้นไม้จากป่ามาใช้ได้อย่างสะดวก บริเวณนี้เป็นลำน้ำที่ขยายใหญ่ขึ้นมาเป็นลำห้วยแล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่าป่าไม้จะหมดไปโดยง่าย ในขณะที่ป่าต้นน้ำต้องใช้เวลาฟื้นฟูยาวนานกว่ามาก
สำหรับประเด็นความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น เบื้องต้นได้พิจารณาจากแนวคิดภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการทางสังคม มองเห็นภาพคร่าว ๆ ว่ากลุ่มคนที่อยู่บริเวณเขากะลานั้นต่อมาอาจจะมีการเคลื่อนตัวออกห่างจากเขากะลาซึ่งเป็นภูเขาที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางที่สุดในย่านนี้ ไปสู่ลำน้ำสายที่ใหญ่ขึ้น แต่ขนาดของภูเขานั้นเล็กลง จะเห็นว่าผู้คนยังคงยึดโยงอยู่กับภูเขาอันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและหมุดหมายที่สำคัญอยู่ เพียงแต่ไปเพิ่มกำลังการผลิตในงานเกษตรกรรมยิ่งขึ้น และเมื่อทำการเกษตรกินอาณาเขตกว้างขวาง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นด้วย จึงละทิ้งตาน้ำที่เคยครอบครองอยู่ก่อนนั้น ไปพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างขอบเขตชุมชนที่มีคูน้ำคันดินขึ้นแทนการอาศัยอยู่ ณ บริเวณอันเป็นต้นน้ำ ทั้งนี้ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี คาดหวังว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติม และนำมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนความรู้กันในโอกาสต่อไป.
เอกสารอ้างอิง
กรมทรัพยากรธรณี. ธรณีวิทยาประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม, ๒๕๕๐.
กรมศิลปากร, กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๑.
ปพนพัชร์ สุขเจริญศิริชัย. “การสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่เมืองโบราณคูเมือง (บ้านห้วย
ดุก) ตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี และตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์”, โครงการสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่บริเวณเมืองโบราณและชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ในเขตจังหวัดนครสวรรค์, (มกราคม - พฤษภาคม ๒๕๖๐).
ปพนพัชร์ สุขเจริญศิริชัย. “รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมาตรการ
ป้องกันลดผลกระทบ พื้นที่คำขอประทานบัตรที่ ๑๑/๒๕๕๙ หมายเลขหลักหมายเขตเหมืองแร่ที่ ๓๒๓๑๐ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด อุทัยเมืองทอง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์”, (พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๖๐).
ปพนพัชร์ สุขเจริญศิริชัย. “รายงานความก้าวหน้า การสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่เมือง
โบราณบ้านหัวถนนกลาง (เมืองสระแก้ว) ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์”, โครงการสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่บริเวณเมืองโบราณและชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ในเขตจังหวัดนครสวรรค์, (กุมภาพันธ์ - เมษายน ๒๕๖๐).
ปพนพัชร์ สุขเจริญศิริชัย. “รายงานความก้าวหน้า การสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่เมือง
โบราณบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์”, โครงการสำรวจเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันและการใช้พื้นที่บริเวณเมืองโบราณและชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ในเขตจังหวัดนครสวรรค์, (กุมภาพันธ์ - เมษายน ๒๕๖๐).
สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี, กลุ่มโบราณคดี. “รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีโคกสำริด หมู่ที่ ๑๐ บ้านป่าบัว
ทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์”, (มีนาคม ๒๕๕๐).
สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี, กลุ่มโบราณคดี. “รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณเขากะลา แหล่ง
โบราณคดีบ้านชอน ๑-๒, ซับกระโดน, ซับผักกาด, ธารลำไย ๑-๒, พุวิเศษ, พุหว้า ๑-๒, พุซาง, บ่อน้ำทิพย์, สำนักสงฆ์บ่อน้ำทิพย์ - วัดป่าพุซาง, บ้านเขาดิน ๑-๒, พุตาฉิ่ง, พุตาเมือง และบ้านปากดง ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์”, (ตุลาคม ๒๕๖๓).
สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี, กลุ่มโบราณคดี. “รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณเขากะลา แหล่ง
โบราณคดีบ้านชอน ๑-๒, ซับกระโดน, ซับผักกาด, ธารลำไย ๑-๒, พุวิเศษ, พุหว้า ๑-๒, พุซาง, บ่อน้ำทิพย์, สำนักสงฆ์บ่อน้ำทิพย์ - วัดป่าพุซาง, บ้านเขาดิน ๑-๒, พุตาฉิ่ง, พุตาเมือง และบ้านปากดง ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์”, (ตุลาคม ๒๕๖๓).

(จำนวนผู้เข้าชม 572 ครั้ง)