ตรวจรับงานบูรณะเจดีย์ วัดเชียงงา ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
วันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางนงคราญ สุขสม ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง เดินทางมาตรวจรับงานบูรณะเจดีย์ วัดเชียงงา ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี งวดสุดท้าย ซึ่งการบูรณะเจดีย์วัดเชียงงาได้แล้วเสร็จเรียบร้อย ตามประวัติความเป็นมาของวัด ระบุว่า กลุ่มชาวพวน ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงขวางในช่วงสมัยหลังรัชกาลเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑) มีจิตศรัทธาร่วมกันก่อตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ และเรียกชื่อ“วัดเชียงงา” ตามชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งตามชื่อเดิมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เจดีย์วัดเชียงงา ก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นอุทเทสิกเจดีย์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยจำลองแบบมาจากธาตุฝุ่น พระธาตุสำคัญประจำเมืองคูนหรือเมืองเชียงขวางของชาวพวน เพื่อสักการะบูชา และความเป็นสิริมงคลของชุมชน ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ศิลปะรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปะลาวและศิลปะมอญ-พม่า มีขนาดความสูง ๒๙.๒๐ เมตร ส่วนฐานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๑๔.๒๘ x๑๔.๒๘ เมตร ชั้นล่างสุดเป็นฐานบัวลูกแก้วที่มีท้องไม้ยืดสูง มีการเจาะเป็นช่องโค้งด้านละ ๒ ช่อง เข้าไปยังห้องคูหาใต้ฐานเจดีย์ซึ่งเชื่อมต่อกันโดยรอบ ฐานเจดีย์ชั้นที่สองทำเป็นฐานสิงห์อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ตรงกึ่งกลางด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป หลังคาซุ้มเป็นรูปเจดีย์ขนาดเล็กตกแต่งด้วยลายปูนปั้น มีราวบันไดนาครับ ทั้ง ๔ ทิศ ตรงมุมของฐานเจดีย์ชั้นที่สองประดับด้วยรูปสิงโตจีนปูนปั้น ถัดเหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้ว มีบัวคว่ำ บัวหงายเอนลาด และลูกแก้วขนาดใหญ่อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบซ้อนลดหลั่นกัน ๒ ชั้น รองรับบัวกลุ่ม และองค์ระฆังขนาดเล็กประดับด้วยรัดอกตกแต่งลายเฟื่องอุบะ ลายดอกไม้ ๘ กลีบและลายใบโพธิ์ปูนปั้น เหนือรัดอกขึ้นไปมีรูปยักษ์ยืนถือดอกบัว และบัวคอเสื้อประดับที่ไหล่ระฆัง ไม่มีบัลลังก์ ส่วนยอดประกอบด้วย ปล้องไฉนจำนวน ๙ ชั้น ตกแต่งด้วยลายกลีบบัว และลายดอกเบญจมาศ มีปัทมบาทคั่นระหว่างปล้องไฉนกับปลียอดแบบปลียาว มีบัวลูกแก้วคั่น ส่วนยอดบนสุดประดับฉัตรโลหะผสมฉลุลาย
สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ตรวจสอบพบว่าเจดีย์วัดเชียงงาอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม วัสดุที่ในการก่อสร้าง และอายุของตัวโบราณสถานเอง จึงเสนอของบประมาณรายจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการบูรณปฎิสังขรณ์โบราณสถานในวัดหรือศาสนสถานจากกรมศิลปากร มาดำเนินการบูรณะซ่อมแซมองค์เจดีย์ บูรณะซ่อมแซมกำแพงแก้ว ปรับปรุงพื้นที่ด้านนอกกำแพงแก้ว และจัดทำป้ายข้อมูลประวัติความสำคัญ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากพระอธิการบุญฤทธิ์ อนามโย เจ้าอาวาสวัดเชียงงา และนางสาวนพวรรณ ป้อมสูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงงา เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทำให้เจดีย์วัดเชียงงามีความมั่นคงแข็งแรงและงดงาม เป็นปูชนียสถานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่นและของจังหวัดลพบุรีต่อไป
เรียบเรียงโดย : นายเดชา สุดสวาท
นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1503 ครั้ง)