การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง เดินทางมาตรวจพื้นที่การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว สำหรับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑ ส่วนด้านหลังของพระที่นั่งเป็นที่ประทับของข้าราชบริพารฝ่ายใน ก่อนหน้านี้ด้านหลังพระที่นั่งมีสภาพป่ารกร้างมานาน เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดีพบแนวฐานโบราณสถานสมัยอยุธยาและร่องรอยเรือนจำเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน ซ่อมแซมบูรณะประตู กำแพงฉนวน และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อไป
การดำเนินงานเริ่มจากการถากถางวัชพืชทำความสะอาดพื้นที่ กำหนดวางผังครอบคุลมทั่วพื้นที่ จากนั้นจึงได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี โดยได้ทำการขุดตรวจเป็นหลุมยาวเพื่อหาแนวฐานโบราณสถานและตรวจสอบลำดับชั้นทับถมทางโบราณคดีก่อน แล้วจึงขุดแต่งโบราณสถานทั้งหมด และได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน ๑ หลุม ขนาด ๓x๓ เมตร เมื่อดำเนินการขุดแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วดำเนินการจัดทำรูปแบบโบราณสถานที่พบจากการขุดแต่ง และจัดทำรูปแบบบูรณะโบราณสถานทั้งหมด สำหรับใช้ในการบูรณะโบราณสถานเพื่อรักษาและเสริมความมั่นคงแก่โบราณสถาน
ผลการดำเนินงานพบแนวฐานโบราณสถานที่ซ้อนทับกันถึง ๒ สมัย คือ แนวอาคารเดิมสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จำนวน ๒๐ หลัง ที่มีลักษณะเด่น คือ กลุ่มอาคาร ๔ หลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน และแนวอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนจำ เมื่อครั้งที่ใช้พื้นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นศาลากลางของมณฑลเทศาภิบาล ก่อนย้ายไปยังที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ นอกจากนี้ยังพบทางเดิน แนวกำแพงแก้ว กำแพงฉนวน บ่อน้ำ และแนวท่อน้ำอีกหลายแนว จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบเสมาดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ - สมัยสาธารณรัฐ กระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม กระเบื้องเชิงชายลายพันธุ์พฤกษา การวางแนวท่อน้ำดินเผาภายในพื้นที่สลับซับซ้อน มีการแยกระหว่างแนวท่อน้ำใช้และท่อน้ำทิ้ง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านระบบประปาในสมัยอยุธยา สำหรับการพัฒนาในอนาคต ตามที่อธิบดีกรมศิลปากรได้ให้แนวทางไว้ ในอนาคตจะเปิดเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวใหม่ของประชาชนชาวลพบุรีและประชาชนทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นสถานที่พักผ่อนและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับจังหวัดลพบุรีได้เป็นอย่างดี
(จำนวนผู้เข้าชม 1030 ครั้ง)