จารึก บนฐานพระคเณศสำริด
วันคเณศชยันตี หรือวันประสูติพระคเณศ
 
ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๖๗ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ วันนี้แอดมินจึงนำเอาองค์ความรู้เรื่องจารึกบนฐานพระคเณศ ที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช มาฝากทุกท่านค่ะ
 
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง "จารึก" บนฐานพระคเณศสำริด พบที่โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
พระคเณศ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย คัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศว่าถือกำเนิดมาจากพระศิวะและพระนางปารวตี ชื่อ “พระคเณศ” หรือ “พระพิฆเนศวร์” แปลตามรูปศัพท์ว่า อุปสรรค ด้วยเหตุนี้พระคเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งการขจัดอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง เทพแห่งความสำเร็จ เทพแห่งความฉลาดรอบรู้ และยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์ด้วย
 
สำหรับคติการบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทย พบหลักฐานในชุมชนโบราณทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ มาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ โดยบริเวณฝั่งตะวันออกพบหลักฐานในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ส่วนฝั่งตะวันตกพบหลักฐานในบริเวณจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา
 
โบสถ์พราหมณ์ เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในภาคใต้ที่พบคติการเคารพบูชาพระคเณศ โดยได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศจำนวนทั้งสิ้น ๓ องค์ องค์หนึ่งที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ คือ พระคเณศ ๔ กร สำริด ซึ่งมีจารึกปรากฏอยู่ที่ฐานทั้ง ๒ ด้าน สำหรับโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ ภายในเคยประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราชสำริด พระอุมาสำริด พระวิษณุสำริด พระหริหระสำริด หงส์สำริด และพระคเณศสำริด ภายหลังโบสถ์พราหมณ์มีสภาพชำรุดมาก ถูกรื้อลงในปี ๒๕๐๕ (ปัจจุบันโบสถ์พราหมณ์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรแล้ว ในปี ๒๕๖๓) จึงมีการเคลื่อนย้ายรูปเคารพบางส่วนรวมถึง “พระคเณศสำริด” ไปเก็บไว้ในหอพระอิศวรอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๑๕ ปัจจุบันพระคเณศองค์นี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
 
พระคเณศสำริด มีขนาดสูง ๔๖.๕ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนตรง (สมภังค์) บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้นซึ่งมีจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง องค์พระคเณศสวมกรัณฑมกุฏ (คือ หมวกรูปชามคว่ำ เป็นหมวกที่เทพทั่วไปและกษัตริย์นิยมสวม) และเครื่องประดับต่าง ๆ งาข้างขวาหัก มีงาเดียว (จึงมีอีกนามว่า “เอกทันต์”) งวงตวัดไปทางด้านซ้าย สวมสายยัชโญปวีตพาดพระอังสาซ้าย ทรงผ้านุ่งแบบสมพรต (ถกเขมร) พระหัตถ์ซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ พระหัตถ์ขวาบนทรงถือขอสับช้างหรืออังกุศ พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือขนมโมทกะ (คือ ขนมที่ปรุงจากข้าวและน้ำตาล เชื่อว่าขนมโมทกะเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดรอบรู้) และพระหัตถ์ขวาล่างทรงถืองาข้างขวาที่หัก ทั้งนี้ พบว่าลักษณะการถือสัญลักษณ์ในพระหัตถ์ของพระคเณศองค์นี้คล้ายกับพระคเณศในอินเดียใต้เป็นอย่างมาก
 
บริเวณฐานชั้นล่างของพระคเณศสำริด ปรากฏจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จารึกด้านหน้าเป็นอักษรทมิฬ ภาษาทมิฬ อ่านว่า มะ ชหา ปิ จิ เท ศะ (ma jhā pi ci de śa) แปลว่า ประเทศอันรุ่งเรืองแห่งมัชหาปิ (มัชปาหิต) ส่วนด้านหลังเป็นจารึก อักษรไทย ภาษาไทย อ่านว่า มหาวิคิเนกสุระ แปลว่า มหาพิฆเณศวร เกี่ยวกับการกำหนดอายุสมัยและการตีความจารึกบนฐานพระคเณศองค์นี้ อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึก แห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กำหนดอายุตัวอักษรทมิฬที่ปรากฏในจารึกว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ แม้ว่าจารึกภาษาทมิฬจะมีการกล่าวถึงราชวงศ์มัชปาหิต ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งของชวาที่รุ่งเรืองขึ้นในชวาตะวันออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑ แต่พระคเณศองค์นี้ไม่ได้แสดงให้เห็นอิทธิพลจากศิลปะชวาแต่อย่างใด หากแต่กลับแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรอย่างเด่นชัด จึงกำหนดอายุของพระคเณศองค์นี้ไว้ในสมัยอยุธยาตอนต้น
 
เรียบเรียง/ภาพ: นางสาวนภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
 
อ้างอิง:
กรมศิลปากร. จารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักโบราณคดีที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๐. (อัดสำเนา)
จิรัสสา คชาชีวะ. “คติความเชื่อและรูปแบบพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗.
นภัคมน ทองเฝือ. รายงานการขุดค้นโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๙. 
ผาสุข อินทราวุธ. “พระคเณศ: ที่พบในภาคใต้” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ ๖ (๒๕๒๙): ๒๒๒๐ - ๒๒๓๐.
ผาสุข อินทราวุธ. ศาสนาฮินดูและประติมานวิทยา. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ม.ป.ป.
--------------------------
สามารถดูข้อมูลโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์เพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “โบสถ์พราหมณ์ แห่งเมืองนครศรีธรรมราช” https://www.facebook.com/nakonsrif.../posts/464313600834893/
.
และสามารถดูภาพพระคเณศสำริดองค์นี้ในแบบ ๓ มิติ ได้ที่ 
http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/.../37-%E0%B8%9E...

(จำนวนผู้เข้าชม 361 ครั้ง)