๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ ""๑๐๖ ปี"" วันพระราชทานธงชาติไทย
๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ 
"๑๐๖ ปี" วันพระราชทานธงชาติไทย
 
     ๒๘ กันยายน ของทุกปี คือวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือการประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็น “ธงชาติไทย” สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๐ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ซึ่งในปีนี้วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖ ถือเป็นวันครบรอบ ๑๐๖ ปี ของวันพระราชทานธงชาติไทย 
 
      "ธงไตรรงค์" กำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ แต่ด้วยความที่ธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่าน เหตุการณ์นี้ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากระหว่างเสด็จประพาส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ หลังจากเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครุ่นคิดถึงถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา ทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก เพราะทรงตระหนักว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศ จึงมีราคาแพงราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน
 
     ครั้งแรกทรงทดลองใช้ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวเพลาะสลับกันเป็น ๕ ริ้ว วิธีทำก็ง่ายวิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว ๕ ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไม่งดงามจับตา จึงทรงคิดที่จะหาวิธีที่จะตกแต่งให้งดงามและได้ลักษณะสมพระราชประสงค์ ทรงรำลึกถึงสีน้ำเงินอันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งทรงยึดถือเป็นสีประจำพระองค์อยู่แล้ว ทรงจัดวางรูปริ้วผ้าใหม่โดยนำริ้วสีน้ำเงินที่ใหญ่เป็น ๒ เท่าของสีขาวและสีแดงไว้ตรงกลางขนาบด้วยสีขาวทั้งล่างและบน มีสีแดงอยู่ริม ๒ ข้างและพระราชทานความหมายไว้ว่า สีแดง หมายถึงชาติซึ่งคนไทยทุกคนต้องรักษาไว้โดยแม้จะต้องสละเลือดและชีวิต สีขาว คือศาสนาซึ่งบริสุทธิ์ดุจสีขาว ส่วน สีน้ำเงิน หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นโปรดให้ทดลองนำขึ้นสู่เสา ดูสง่างาม และมีความหมายแสดงสัญลักษณ์ของชาติไว้อย่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย และพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้มีการประกาศให้ทุกวันที่ ๒๘ กันยายน ของทุกปี คือ“วันพระราชทานธงชาติไทย” และกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
....
อ้างอิง
๑) กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “รัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็น “ธงชาติไทย” เมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐.” ศิลปวัฒนธรรม. เข้าถึงเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_๑๑๗๙๘
๒) ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “มูลเหตุเปลี่ยนธงชาติไทย กับการห้อยผ้าแดงเมืองอุทัยธานี-ธงช้างที่สะเทือนพระราชหฤทัย,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ๒๕๕๒. เข้าถึงเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/featured/article_๘๒๕๖

(จำนวนผู้เข้าชม 313 ครั้ง)

Messenger