ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) แห่งเมืองไชยา
องค์ความรู้ทางวิชาการเรื่อง : ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) แห่งเมืองไชยา สัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย
 
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายมหายาน เนื่องจากหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละนิกายยอมรับนับถือ มหายานทุกนิกายย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน ด้วยเหตุนี้รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จึงกลายเป็นรูปเคารพสำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายาน เนื่องจากเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้คุ้มครองชาวพุทธที่นับถือนิกายดังกล่าวในยุคปัจจุบัน
 
ในภาคใต้ของประเทศไทย รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบมากบริเวณจังหวัดยะลา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองฯ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะประติมากรรมชิ้นเอกซึ่งพบในอำเภอไชยา คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ กร หรือพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ พระนาม “อวโลกิเตศวร” แปลว่า “พระผู้มองลงต่ำ” หรือ “พระผู้มีแสงสว่าง” ส่วนพระนาม “ปัทมปาณี” แปลว่า “ผู้ถือดอกบัว” ศิลปะสมัยศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบในเมืองไชยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่สันนิษฐานกันว่าเคยเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘
 
ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) องค์นี้ มีขนาดเท่าบุคคลจริง สภาพชำรุด ท่อนล่างตั้งแต่บั้นพระองค์หายไป ทรงยืนอยู่ในท่าตริภังค์ (เอียงสะโพก ) พระพักตร์กลม มีอุณาโลมที่พระนลาฏ พระเนตรเหลือบมองต่ำ ทรงเครื่องประดับ อาทิ สร้อยประคำ กรองศอ ครองผ้าเฉวียงพระอังสาหรือไหล่ซ้าย คาดทับด้วยสายยัชโญปวีตหรือสายธุรำ อันเป็นสายมงคลที่พราหมณ์หรือนักบวชใช้คล้อง โดยมีหัวกวางประดับอยู่บนสายนั้น ลวดลายเครื่องประดับคล้ายกับประติมากรรมในชวาภาคกลางอันเป็นการสนับสนุนหลักฐานจากจารึกหลักที่ ๒๓ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสกุลวงศ์ของกษัตริย์แห่งศรีวิชัย (ไชยา) และราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ องค์จริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นประติมากรรมศิลปะศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงที่สุด และจัดได้ว่างดงามที่สุด ถือเป็นหลักฐานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนความสำคัญในด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองไชยาโบราณในสมัยศรีวิชัยรูปเคารพนี้ และนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย 
 
เรียบเรียง/กราฟิก : นายธนรักษ์ แพวขุนทด นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
 
อ้างอิง 
๑. พระราชสุธรรมเมธี. (๒๕๔๒). เมืองไชยา (พิมพ์ครั้งที่ ๑). โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 
๒. นงคราญ ศรีชาย,และวรวิทย์ หัศภาค. (๒๕๔๓). โบราณคดีศรีวิชัย มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน (พิมพ์ครั้งที่ ๑). โรงพิมพ์เม็ดทราย. 
๓. ธีรนาฎ มีนุ่นและคณะ. (ม.ป.ป.). พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคาบสมุทรสทิงพระ. https://www.finearts.go.th/promotion/view/๑๖๘๑๑- 
๔. เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์. (๒๕๖๓). พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะศรีวิชัยที่ค้นพบในภาคใต้ของดินแดนประเทศไทยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๓. วารสารศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ๑๒(๑), ๑๕๗-๑๗๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 4130 ครั้ง)

Messenger