ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานวัดหลง
ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี 
ณ โบราณสถานวัดหลง
.
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ถึง ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามโครงการขุดค้นชุมชนโบราณไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาชุมชนโบราณในเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย โดยทำการขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน ๗ หลุม ได้แก่ (๑) หลุมขุดค้น TP.1 แหลมโพธิ์ ๑ (๒) หลุมขุดค้น TP.2 แหลมโพธิ์ ๒  (๓) หลุมขุดค้น TP.3 ศรียาภัยอนุสรณ์ (๔) หลุมขุดค้น TP.4 วัดแก้ว (๕) หลุมขุดค้น TP.5 วัดหลง (๖) หลุมขุดค้น TP.6 วัดพุมเรียง และ (๗) หลุมขุดค้น TP.7 วัดอุบล สำหรับองค์ความรู้ชุดนี้เป็นการนำเสนอผลการขุดค้นทางโบราณคดีของหลุมขุดค้นที่ ๕ (TP.5) วัดหลง ดังนี้
.
โบราณสถานวัดหลง ตั้งอยู่ในตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นหนึ่งในศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนานิกายมหายานที่สำคัญของภาคใต้ และยังเป็นสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในเมืองโบราณไชยา โบราณสถานวัดหลงได้รับการขุดศึกษาทางโบราณคดีครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ โดย Jean Yves Claeys นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ซึ่งทำการขุดตรวจฐานรากโบราณสถานวัดหลง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๐ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เข้ามาดำเนินการขุดตรวจฐานรากอาคารโบราณสถานวัดหลง พบว่าเป็นโบราณสถานก่ออิฐแบบไม่สอปูน ลักษณะแผนผังอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗ กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานวัดหลง พบร่องรอยเจดีย์ก่ออิฐซึ่งเหลือเพียงส่วนฐาน ลักษณะฐานเจดีย์อยู่ในผังรูปกากบาท ขนาดประมาณ ๒๑.๖๕ x ๒๑.๖๕ เมตร ลักษณะผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมรับกับเรือนธาตุทรงจตุรมุข ตัวเรือนธาตุมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน โดยมีมุขทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันออก จากรูปแบบสถาปัตยกรรมแสดงให้เห็นว่าฐานอาคารเดิมของเจดีย์วัดหลงสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ส่วนฐานชั้นล่างของเจดีย์ สันนิษฐานว่าถูกสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง คือราวสมัยอยุธยา โดยการก่ออิฐล้อมรอบฐานเจดีย์แล้วถมดินเป็นลานกว้าง ลักษณะคล้ายแนวกำแพงกันดินสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ แล้วทำทางขึ้นใหม่ตรงกับมุขทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุ สำหรับโบราณวัตถุที่พบร่วมกับการขุดแต่ง ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ อิทธิพลศิลปะทวารวดีและขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งและราชวงศ์หยวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยสุโขทัย และภาชนะดินเผาพื้นเมือง ทั้งนี้ ในการขุดแต่งครั้งดังกล่าว นักโบราณคดีได้ทำการขุดตรวจเพื่อค้นหาโบราณสถานอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเจดีย์ เช่น กำแพงแก้ว และเจดีย์ทิศ โดยเลือกพื้นที่นอกกำแพงกันดินมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศใต้ ห่างออกมาด้านละ ๘ เมตร ซึ่งผลการขุดตรวจไม่พบรากฐานของสิ่งก่อสร้างใด ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเจดีย์วัดหลง
ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถานวัดหลง ผลการขุดค้นพบ “แนวอิฐ” ตั้งอยู่ห่างจากเจดีย์วัดหลงมาประมาณ ๒๖ เมตร แนวอิฐดังกล่าวอยู่ลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ขนาดกว้างประมาณ ๗๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๖๐ เซนติเมตร วางตัวยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ ขนานกับแนวกำแพงกันดินสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ก่อล้อมรอบฐานเจดีย์ ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าแนวกำแพงกันดินข้างต้นน่าจะถูกสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา และที่น่าสนใจคือพบว่าแนวอิฐที่พบใหม่นี้มีขนาดความกว้างของแนวอิฐเท่ากันกับแนวกำแพงกันดิน (คือกว้างประมาณ ๗๓ เซนติเมตร) รวมทั้งมีเทคนิคการก่ออิฐและการวางเรียงอิฐรูปแบบเดียวกัน คือเป็นการก่ออิฐแบบไม่สอปูน และวางเรียงอิฐด้วยการนำอิฐหักมาเรียงเป็นกรอบ แล้วถมอัดด้านในด้วยเศษอิฐหักและอิฐป่นขนาดเล็ก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการนำเศษอิฐหักจากส่วนประกอบของโครงสร้างเจดีย์วัดหลงมาใช้ในการก่อสร้าง นอกจากนั้น ในการขุดค้นครั้งนี้ยังพบโบราณวัตถุสมัยอยุธยาในระดับชั้นดินเดียวกันกับแนวอิฐ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) จากข้อมูลดังกล่าว ในเบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่าแนวอิฐที่พบใหม่นี้น่าจะเป็น “ฐานอาคารโบราณสถาน” หรืออาจเป็น “แนวกำแพงแก้ว” ของโบราณสถานวัดหลง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในระยะเดียวกับการก่อสร้างแนวกำแพงกันดินล้อมรอบเจดีย์ อย่างไรก็ตาม จะมีการดำเนินการขุดตรวจแนวอิฐที่ต่อเนื่องมาจากหลุมขุดค้นเดิมลงมาทางด้านทิศใต้อีกครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบขอบเขตของแนวอิฐ และเพื่อให้ทราบถึงลักษณะของโบราณสถานดังกล่าวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
.
สำหรับโบราณวัตถุอื่น ๆ ที่พบจากการขุดค้นในครั้งนี้ เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ชิ้นส่วนเครื่องแก้วสีเขียว อิฐบัว อิฐดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินมีลายกดประทับ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๕) จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงร่องรอยหลักฐานการใช้พื้นที่ของโบราณสถานวัดหลง ซึ่งปรากฏมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย และมีการใช้พื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการเข้ามาก่อสร้างเพิ่มเติมอีกครั้งในสมัยอยุธยา และสันนิษฐานว่าคงมีการใช้พื้นที่สืบเนื่องมาถึงยุคสมัยหลังด้วย เนื่องจากยังคงพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่ต่อเนื่องมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๕) ทั้งนี้ สำหรับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นในครั้งนี้ จะทำการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำเป็นรายงานเผยแพร่ต่อไป 
.
เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวนภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ 
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
.
อ้างอิง
๑. กรมศิลปากร. โครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ ๑๔ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๒๕.
๒. กรมศิลปากร. รายงานการปฏิบัติงานโครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ ๑๔ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๒๖.
๓. กรมศิลปากร. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ ๒๕-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๒๕.
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง8.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง13.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง14.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง15.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง16.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง17.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง18.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง19.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง20.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง21.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง22.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง23.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง24.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง25.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง26.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง27.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง28.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ณ โบราณสถานวัดหลง29.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 3523 ครั้ง)

Messenger