การขุดตรวจ โบราณสถานกู่แก้วสี่ทิศบ้านหว้าน ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
องค์ความรู้ : การขุดตรวจ โบราณสถานกู่แก้วสี่ทิศบ้านหว้าน ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
 
ที่ตั้ง 
 โบราณสถานแก้วสี่ทิศบ้านหว้าน ตั้งอยู่บริเวณที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าดงใหญ่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านหว้าน ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ 
 
พิกัดทางภูมิศาสตร์ 
 ละติจูด  15° 22' 14.59"  เหนือ  ลองจิจูด 104°11'3.97"ตะวันออก 
 UTM 48 P 412471 ม. ตะวันออก 1699495 ม. เหนือ 
 แผนที่ทหาร ระวาง 5839 IV ลำดับชุด L7017 มาตราส่วน 1: 50,000 พิมพ์ครั้งที่ 2-RTSD 
 
การทำผัง
 วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดหลุม กว้าง 1 เมตร ยาว 4.50เมตร กำหนดจุดอ้างอิงตายตัว (fixed point) บริเวณพื้นผิวด้านบนของรั้วเหล็กล้อมรอบโบราณสถานเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม (utm) จากนั้นถ่ายระดับมายังพื้นที่หลุมขุดตรวจโดยได้บวกระดับความสูงเพิ่มขึ้นจากจุดอ้างอิงตายตัว (fixed point) 100 เซนติเมตร กำหนดเป็นระดับอ้างอิงสมมติ (datum point) ระดับ 0 cm.dt. จากนั้นตรวจสอบระดับของเนินปรากฎว่ายอดเนินมีระดับ 23 cm.dt. กลางเนินมีระดับ 82 cm.dt. ปลายเนินมีระดับ 190 cm.dt.
 
สภาพก่อนขุด
 เป็นเนินดินขนาดเล็ก มีผังพื้นรูปคล้ายวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร สูงจากพื้นโดยรอบประมาณ 3 เมตร มีต้นไม้ขนาดใหญ่และขนาดเล็กขึ้นอยู่บนยอดเนิน 
 
สภาพหลังขุด
 สภาพหลังขุด มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดหลุม กว้าง 1 เมตร ยาว 4.50 เมตร ความลึก 3.00 เมตร (ลึกจากระดับสมมติ 320 cm.dt.) ปรากฏร่องรอยโบราณสถานประเภทเจดีย์ ก่อด้วยอิฐสอดิน เจดีย์มีความสูงประมาณ 2.00 เมตร สามารถศึกษารูปทางสถาปัตยกรรมโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายกันในพื้นที่ของโบราณสถานกู่แก้วสี่ทิศบ้านหว้าน โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ส่วนฐาน เป็นฐานเขียง สองชั้นในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับส่วนฐานบัวคว่ำบัวหงายท้องไม้ยกสูงประดับซุ้มจระนำประจำด้าน บริเวณมุมทั้งสี่ยกเก็จ รองรับส่วนองค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยม ประดับจระนำซุ้มขนาดเล็กประจำด้าน ส่วนยอดซ้อนชั้นลดหลั่นเป็นปล้องไฉน และประดับปลียอดที่ส่วนยอดสุด
 
การกำหนดอายุเบื้องต้น
 ในเบื้องต้นกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าร่วมสมัยทวารวดี พุทธศควรรษที่ 12-16 ในการนี้กลุ่มโบราณคดีได้เจาะเก็บดินใต้ฐานของเจดีย์ส่งไปกำหนดอายุด้วยวิธีเรืองแสงความร้อนในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หากได้ผลอย่างไรกลุ่มโบราณคดีจะดำเนินการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ต่อไป
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวีระชาติ พงค์ชนะ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
 

(จำนวนผู้เข้าชม 996 ครั้ง)