เมืองนครราชสีมา 555 ปี มีเรื่องเล่า ตอนที่ 1 "..เรื่องเล่าก่อนมีทางรถไฟในบันทึกฝรั่ง
องค์ความรู้ เรื่อง : เมืองนครราชสีมา 555 ปี มีเรื่องเล่า ตอนที่ 1 "..เรื่องเล่าก่อนมีทางรถไฟในบันทึกฝรั่ง
ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในประเทศสยามเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมักบันทึกเรื่องราวที่ตนเองเดินทางไปพบเห็นแล้วเอาไปพิมพ์เผยแพร่ในบ้านเกิดของตน ส่วนมากมักจะบันทึกเรื่องราวในกรุงเทพและหัวเมืองใกล้เคียง หรือฟังคำบอกเล่ามาจนบันทึก แต่ก็มีบางคนที่เดินทางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเมืองนครราชสีมา เราจึงได้รับรู้สภาพบ้านเมืองของนครราชสีมาหรือโคราชในช่วงเวลานั้นผ่านบันทึกชาวต่างประเทศเหล่านี้
ที่น่าสนใจคือบันทึกของนายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ ที่เขียนขึ้นและนำเสนอให้ราชภูมิศาสตร์สมาคมแห่งสหราชอาณาจักรตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2438 ทำให้โลกได้รับรู้ถึงอารยธรรมและอัฉริยภาพของรัชกาลที่ 5 ในการพัฒนาเทคโนโลยีของสยาม กรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้แปลเป็นภาษาไทยในปีพ.ศ.2544 ในชื่อ บันทึกการเดินทางสู่แม่น้ำโขงตอนบน ประเทศสยาม เรียบเรียงจากบันทึกเอกสารภาษาอังกฤษเรื่อง Notes of a Journey on the Upper Mekong,Siam เขียนจากบันทึกการเดินทางของ นาย เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 จ้างมาปฎิบัติราชการสังกัดกรมราชโลหะกิจและภูมิวิทยา(กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ภายหลังได้เป็นเจ้ากรมในปี พ.ศ.2438-2439 ได้บันทึกการเดินทางไปสำรวจแร่จากกรุงเทพ ผ่านภาคเหนือไปหลวงพระบาง และใช้เส้นทางขากลับผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากหนองคายมาตามเส้นวางสายโทรเลขผ่านนครราชสีมาไปสระบุรีและกลับกรุงเทพ การเดินทางขากลับโดยใช้เส้นทางผ่านมาทางนครราชสีมาผ่านดงพระยาเย็นเข้าสู่สระบุรี
นายเฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ ได้บรรยายายการเดินทางที่ลำบากยากเข็ญจนมาถึงนครราชสีมาในช่วงเวลานั้น คือในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2436 ก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟมาถึง (รถไฟมาถึงในปีพ.ศ.2443) ได้เขียนบันทึกสภาพเมืองนครราชสีมาในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทำแผนที่การเดินทางและวาดลายเส้นประกอบไว้หลายเรื่องเช่น ข้าหลวงประจำเมืองคือพระยาประสิทธิ์ศัลยการ ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา ที่ท่านเรียกว่า PHra Prasadit ว่าเป็นผู้ที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี มีอัธยาศัยและปกครองเมืองอย่างดี เล่าถึงบริเวณกลางเมืองที่เคยถูกไฟไหม้แต่ยังไม่ได้ฟื้นฟู กำแพงเมืองศิลาแลงขนาดใหญ่ล้อมรอบเมืองทั้งสี่ด้าน และมีหอคอยทรงกลมอยู่ด้านข้างของกำแพงแต่สภาพทรุดโทรมมากแล้ว คูเมืองด้านนอกก็เกือบจะตื้นเขินหมดแล้ว มีประตูอยู่ตรงกลางแต่ละด้านมีถนนที่เชื่อมจากประตูเมืองด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ถนนสองเส้นไปตัดกันที่กลางเมือง ภายในเมืองมีป่าย่อมๆและหนองบึงหลายแห่ง กำแพงเมืองตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ที่ป้องกันน้ำไหลเข้าเมืองในช่วงฤดูฝนที่บริเวณโดยรอบจะเป็นทะเลสาบ มีหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินรายรอบเมือง มีทุ่งนาและสวนผลไม้หลายชนิดทั้งมะม่วง กล้วย มะพร้าว ลูกตาล มีขนมหวานที่ทำจากตาลโตนดรสชาดดี
ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง มีทั้งคนไทยและคนลาว ตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่ซึ่งสภาพบ้านไม่ค่อยดีนัก มักจะอยู่ตามหนองบึงและชายป่า แต่คนจีนจะรวมตัวกันอยู่ในย่านที่มีความเจริญจำนวนหลายพันคน เกือบทั้งหมดเป็นเจ้าของร้านค้าที่ตั้งเป็นระเบียบอยู่นอกประตูเมืองด้านตะวันตก ถนนสายนี้มีแผ่นไม้กระดานปูตามขวาง (น่าจะเป็นย่านถนนจอมผลออกไปโพธิกลางผ่านทางตลาดแม่กิมเฮงในปัจุบัน)
ตลาดด้านตะวันตก(ถนนโพธิกลาง) สินค้าที่นำมาขายจะเป็นสินค้าชนิดต่างๆทั้งจากพื้นที่และนำเข้าจากแดนไกลเช่นรองเท้าแตะทำจากหนังสัตว์ นมกระป๋องจากสวิส ไม้ขีดไฟ เข็มและด้ายเย็บผ้า เส้นลวดและตะปู เครื่องมือจากยุโรป เสื้อชั้นใน ตลอดจนสบู่และสินค้าทุกชนิดที่สั่งเข้ามาจากรุงเทพผ่านเส้นทางดงพญาเย็นโดยใช้เกวียนและวัวต่าง ผ้านุ่งที่นิยมมากที่สุดเป็นผ้านุ่งของโคราชซึ่งส่วนมากเข้าใจกันว่าเป็นผ้าของชาวสยามเป็นผ้าพื้นมีเชิงตอนปลายสีที่ใช้กันมากคือสีน้ำเงิน สีชมพูเรื่อๆ และสีแดงอ่อน ที่กลางเมืองที่ถนนสองเส้นหลักมาตัดกันมีตลาดกลาง มีอาคารหลังใหญ่เปิดค้าขายตลอดทั้งวัน โดยมีเจ้าของเป็นคนจีนและภรรยาชาวไทยต่อรองราคากับผู้ซื้อทั้งวัน
เมื่อออกเดินทางกลับกรุงเทพ โดยใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านเล็กๆชื่อจันทึก Chanteuk (ปัจจุบันคืออำเภอสีคิ้ว)ที่เคยมีเหมืองทองแดงอยู่สองสามแห่ง ผ่านบ้านขนงพระ Ban Kanong Pra (ปัจจุบันคือตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง) เข้าสู่แก่งคอย Keng Koi ด้วยความยากลำบากและอันตรายจากสัตว์ป่า ไข้ป่า และสภาพป่าฝน สัมภาระในการสำรวจเสียหายจากการข้ามป่าดงพญาเย็นไปหลายอย่าง จนถึงปากเพรียว Pak prio (จังหวัดสระบุรี )จึงพบคันดินทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างไปยังนครราชสีมา ท่านได้บันทึกถึงความสำคัญและความมุ่งมั่นที่จะต้องสร้างทางรถไฟสายนี้ให้สำเร็จ
จากบันทึกนี้ ถึงแม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมดเนื่องจากบันทึกจากมุมมองของชาวตะวันตกที่มีวัฒนธรรม ความคิด แตกต่างจากคนท้องถิ่น แต่ก็ทำให้เรารู้ถึงสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นๆได้เป็นอย่างดี
เก็บความจาก บันทึกการเดินทางสู่แม่น้ำโขงตอนบน,ประเทศสยาม พรพรรณ ทองตัน นักอักษรศาสตร์ 8ว. แปล โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร แปลเป็นภาษาไทยในปีพ.ศ.2544
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 926 ครั้ง)