Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย ตอนที่ 2 กับ "หอไตรกลางน้ำ อีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าพระธาตุ
Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย ตอนที่ 2 กับ " #หอไตรกลางน้ำ อีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าพระธาตุ..."
สวัสดีครับ กลับมากันอีกครั้ง หลังจากหลายสัปดาห์ก่อนพี่นักโบนำเสนอ Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา! กับ อุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ กันไปแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกท่านเป็นอย่างมาก กับภาพจิตรกรรมชั้นครูทั้งนอก และในอุโบสถหลังเก่าที่เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ผสมผสานไปพร้อมวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น โดยในวันนี้ พี่นักโบ จะมานำเสนออีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าธาตุ นั่นคือ "หอไตรกลางน้ำ" นั่นเองครับ
#หอไตรวัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ซึ่งราษฎรในพื้นที่เรียกว่า "ลำตาน้อย" ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ( ระยะห่างประมาณ 50 เมตร หอไตรมีลักษณะเป็นอาคารเรือนไทย ฝาลูกปะกน (ไม้ลูกสกัดฝาเรือนสำหรับนำแผ่นกระดานมากรุ) และมีหน้าต่างลูกมะหวดรวม 5 ช่อง (ผนังด้านทิศเหนือ เเละทิศใต้ ด้านละ 2 ช่อง เเละผนังด้านทิศตะวันออก 1 ช่อง) ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเพื่อให้สอดรับกับอุโบสถหลังเก่าที่หันหน้ามาทางด้านทิศตะวันออก
ส่วนฐานของหอไตรรองรับด้วยเสากลม 5 แถวๆ ละ 4 ต้น รวมทั้งสิ้น 20 ต้น ปักลงไปในน้ำ
ส่วนหลังคา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เเละประดับกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนมซึ่งมีลักษณะคล้ายกระเบื้องเชิงชายของอุโลสถหลังเก่า บริเวณหน้าบันทั้ง 2 ด้าน ไม่สลักลวดลาย ภายในมี #หอกลาง และมีชานรอบ ด้านทางเข้ามีเศษราวสะพานทอดขึ้นสู่หอกลางซึ่งในอดีตเป็นห้องสำหรับเก็บเอกสารหรือคัมภีร์ ปัจจุบันมีการทำสะพานไม้อย่างง่ายเพื่อเชื่อมกับพื้นที่บก
สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส ในฐานะผู้เขียน เเละบรรณาธิการ หนังสือประวัติวัดหน้าพระธาตุ และหนังสือเทศนา ได้กล่าวถึง สภาพหอไตรกลางน้ำ ในโอกาสงานผูกสีมาวัดหน้าพระธาตุ ระหว่างวันที่ 16-22 เมษายน 2521 ความว่า
"...หอไตรกลางสนะมุงกระเบื้องดินเผา เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นทีกระดิ่งเเขวน มีเเผ่นโลหะเป็นใบโพธิ์ห้องลูกกระดิ่ง เวลาลมพัดเสียงวังเวงมาก เเต่เวลานี้หายหมด จะหล่นลงในสระหรือหายไปอย่างไรไม่ทราบ แต่ก่อนคงเก็บคัมภีร์หนังสือลาน
จารตัวอักษรขอม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว พระสมัยนี้อ่านหนังสือขอมไม่ออก หนังสือลานจารด้วยอักษารขอมยังมีอยู่ในตู้บนกุฎี แต่ไม่มีใครสนใจ ที่ประตูหอไตร มีลายรดน้ำ เขียนรูปนกอุ้มนาง ฝีมือสวย กรมศิลปากรเคยมายืมออกเเสดงให้คนชม
ข้าพเจ้าเสียดายต้องการจะซ่อมรักษา ต่อไป..."
จารตัวอักษรขอม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว พระสมัยนี้อ่านหนังสือขอมไม่ออก หนังสือลานจารด้วยอักษารขอมยังมีอยู่ในตู้บนกุฎี แต่ไม่มีใครสนใจ ที่ประตูหอไตร มีลายรดน้ำ เขียนรูปนกอุ้มนาง ฝีมือสวย กรมศิลปากรเคยมายืมออกเเสดงให้คนชม
ข้าพเจ้าเสียดายต้องการจะซ่อมรักษา ต่อไป..."
สำหรับ #ภาพจิตรกรรม ที่พบบริเวณหอไตรนั้น พบทั้งเทคนิคเขียนลายรดน้ำปิดทอง เเละเขียนภาพด้วยสีฝุ่น มีดังนี้
1. จิตรกรรมฝาผนังภายนอกหอกลาง
1.1 บานประตูทางเข้า เขียนลายรดน้ำปิดทอง เล่าเรื่อง กากี ตอน พญาครุฑลักนางกากี
1.2 ผนังขนาบบานประตูทั้ง 2 ข้าง เขียนลายรดน้ำปิดทอง เป็นภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา อันเป็นสัญลักษณ์มงคลแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
1.3 ผนังด้านทิศเหนือ เเละด้านทิศใต้ เขียนภาพด้วยสีฝุ่น เป็นเทพพนมถือดอกบัว อยู่ในเส้นสินเทาล้อมรอบด้วยพื้นหลังเป็นลายประจำยามก้านแย่งเสมือนเทพพนมเปล่งรัศมี
1.4 ผนังด้านทิศใต้ เขียนภาพด้วยสีฝุ่น เล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนออกมหาภิเษกรมณ์ (เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช) ขนาบด้วยภาพเทวดาเหาะถือดอกบัวแสดงความยินดี
2. จิตรกรรมผนังภายในหอกลาง
2.1 เพดาน เขียนลายนกในป่าหิมพานต์ ดอกไม้ เเละดาวเพดาน บนพื้นสีแดง
2.2 ผนังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก เเละทิศใต้ แบ่งภาพออกเป็นชั้น ๆ ชั้นบนเขียนภาพเทพชุมนุม ชั้นกลาง และชั้นล่างของผนัง เขียนภาพดอกไม้ร่วงสีแดงบนพื้นสีขาว
จากภาพจิตรกรรมที่พบ สันนิษฐานว่าหอไตรกลางน้ำแห่งนี้ สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ร่วมรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยคงมีอายุร่วมสมัยกับอายุของอุโบสถหลังเก่า
อำเภอปักธงชัยของเรา เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ยังมีวัดอีกหลายแห่งที่พบภาพจิตรกรรมฝาผนัง เเละเพดานจากฝีมือศิลปินชั้นครู อาทิ วัดปทุมคงคา (นกออก) เเละวัดโคกศรีสะเกษ ดัฃตั้นหากมีโอกาสจึงขอเชิญชวนทุกท่าน แวะเยี่ยมชมวัดหน้าพระธาตุ เพื่อดื่มด่ำความงามของภาพจิตรกรรมที่อุโบสถหลังเก่า เเละหอไตรกลางน้า ตลอดจนวัดอื่น ๆ ในพื้นที่อำเภอปักธงชัยดังที่กล่าวไปแล้วกันนะครับ
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
เอกสารอ้างอิง
1. สมเด็จพระธีรญาณมุนี. ประวัติวัดหน้าพระธาตุ และหนังสือเทศนา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ส สง่า. 2521.
2. วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนัง วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. อัดสำเนา. 2528
3. หน่วยศิลปากรที่ 6. รายงานการติดตามผลการอนุรักษ์หอไตร วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ 6. 2535
(จำนวนผู้เข้าชม 902 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน