...

พาชม Unseen ทางวัฒนธรรมของอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
กลับมาพบกับ Unseen ทางวัฒนธรรมของอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กันอีกครั้ง โดยในสัปดาห์นี้ พี่นักโบ ขอพาทุกท่านไปเยือนอีกหนึ่งเพชรเม็ดงามทางวัฒนธรรมของอำเภอปักธงชัย ของเรา นั่นคือ "โบราณสถานอุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ" ในท้องที่บ้านตะคุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย นั่นเองครับ
 
 
อุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ นับว่ามีความโดดเด่นทั้งในด้าน #สถาปัตยกรรม เเละ #จิตรกรรม  มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง 5.50 และยาว 8.80 เมตร พื้นอาคารยกสูงจากพื้น 1.20 เมตร ใช้ผนังอาคารเป็นตัวรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคา ด้านหน้าของอุโบสถเป็นมุขยื่น มีเสากลมตั้งขึ้นรับเครื่องบน 2 ต้น มีบันไดทางขึ้น-ลง เฉพาะด้านทิศตะวันออก 3 ด้าน  บริเวณผนังด้านทิศเหนือเเละทิศใต้ มีช่องหน้าต่าง ฝั่งละ 3 บาน ส่วนหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายมน มีกระเบื้องเขิงชายรูปเทพนม ประดับที่ปลายเชิงชาย หน้าบันของอุโบสถสลักรูปเทพพนมเหนือดอกโบตั๋น  และสลักลายพรรณพฤกษาเป็นพื้นหลัง ขอบด้านล่างของหน้าบันประดับด้วยลายกระจัง และรังผึ้ง ส่วนยอดของจั่วประดับปูนปั้นแทนการประดับช่อฟ้าลักษณะคล้ายก้อนเมฆ
 
สำหรับ ภาพจิตรกรรม ของอุโบสถเก่า เขียนด้วยสีฝุ่น เขียนภาพเล่าเรื่องทั้งด้านนอกเเละด้านในอุโบสถ โดย 
#ด้านนอก เขียนภาพบริเวณผนังด้านทิศตะวันออกเล่าเรื่อง เทพ เทวดาไปสักการะพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์ (กายสีเขียว) เป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ และด้านบนสุดเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงภูมิสปรศมุทราพร้อมเหล่าพระสาวก
#ด้านใน บริเวณผนังด้านทิศตะวันออกเเละทิศเหนือ เขียนภาพเล่าเรื่อง "ทศชาติชาดก ซึ่งกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า" ผนังด้านทิศใต้ เขียนภาพเล่าเรื่อง "ป่าหิมพานต์ วัตรปฏิบัติของภิกษุ วิถีชีวิตของผู้คน ตลอดสภาพบ้านเมืองที่มีอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีน" ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้ความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และผนังด้านทิศตะวันตก เขียนภาพเล่าเรื่อง "รอยพระพุทธบาททั้ง 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ทั้ง 5 แห่ง อันได้แก่ 1) เขาสุวรรณมาลิก 2) เขาสุวรรณบรรพต  3) เขาสุมนกูฏ 4) เมืองโยนกบุรี เเละ 5) ชายหาดใกล้ลำน้ำนัมมทนาที  ดังส่วนก
หนึ่งของคำนมัสการพระพุทธบาท ความว่า "...สุวัณณะมาลิเก สุวัณณะปัพพะเต สุมะนะกูเฏ
โยนะกะปุเร นัมมะทายะ นะทิยา.." และกึ่งกลางภาพปรากฏภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงอภัยมุทรา 
 
เมื่อพิจารณาจากฝีมือ เทคนิควิธีการ เเละองค์ความรู้จากภาพเขียนที่ปรากฏสันนิษฐานว่าช่างหรือจิตรกรที่เขียนภาพให้กับอุโบสถแห่งนี้ต้องเป็นช่างหลวงหรือช่างพื้นถิ่นที่มีทักษะฝีมือสูงที่ได้รับอิทธิพลการเขียนภาพจิตรกรรมจากราชสำนักรัตนโกสินทร์
 
เบื้องต้นจึงกำหนดอายุสมัยของอุโบสถเก่า เเละภาพจิตรกรรม วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24-ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ร่วมรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเรื่องถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครับ
 
สำหรับด้านหน้าอุโบสถเก่าพบเจดีย์หรือธาตุทรงระฆัง ผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ในวัฒนธรรมล้างช้าง หรือเป็นที่รู้จักกันในทางสถาปัตยกรรมว่า "ธาตุแบบบัวเหลี่ยม" จำนวน 2 องค์  ซึ่งเจดีย์หรือธาตุทั้ง 2 องค์นี้ สันนิษฐานว่าเป็นแรงบันดาลใจให้การสร้างธาตุด้านหน้าอุโบสถ งัดปทุมคงคา (วัดนกออก) ตามที่เสนอไว้เเล้วก่อนหน้านี้ครับ
 
อุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณ มาตั้งเเต่ พ.ศ.2539 และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ อุโบสถเก่า  หลังนี้ ได้รับพระราชทานรางวัล #อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานเเละวัดวาอาราม ประจำปี 2552 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครับ
 
อีกไฮไลต์อีกจุดหนึ่งของวัดหน้าพระธาตุ ที่จะหยิบยกไปนำเสนอในครั้งหน้า นั่นคือ #หอไตรกลางน้ำ ที่มีความงดงาม โดดเด่น เเละเฉพาะตัวเช่นเดียวกัน โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
 
ผ่านไปผ่านมาเมืองปักธงชัย อย่าลืมเเวะมาชมเพชรเม็ดงามทางวัฒนธรรมของเมืองปักธงชัยกันเยอะๆนะครับ เพราะปักธงชัยบ้านเอ๋งไม่ได้มีดีเเค่ผ้าไหม 
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 952 ครั้ง)


Messenger