ขบถผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๐
ทำความรู้จักกับ ขบถผู้มีบุญ หรือ ขบถผีบุญ ผ่าน องค์ความรู้ เรื่อง
"ขบถผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๐ พลังอนุรักษ์นิยมในกระแสปฏิรูป"
"ขบถผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๐ พลังอนุรักษ์นิยมในกระแสปฏิรูป"
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
องค์ความรู้ เรื่อง "...ขบถผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๐ พลังอนุรักษ์นิยมในกระแสปฏิรูป..."
สวัสดีครับ กลับมาพบกับ #พี่นักโบ อีกครั้ง ซึ่งตั้งใจจะมาเผยเเพร่องค์ความรู้ด้านโบราณคดี เเละประวัติศาสตร์ ในภูมิภาคอีสานของเรา ให้กับทุก ๆ ท่าน ได้เรียนรู้กันอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ... สำหรับวันนี้ พี่นักโบ ขอพาทุกท่าน มารู้จัก #ขบถผีบุญ หรือ #ขบถผู้มีบุญ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของภาคอีสาน อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า ... ขบถผู้มีบุญ เป็นใคร ? เกิดขึ้นจากเหตุใด? รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ใด ? มีกี่ก๊กกี่เหล่า ? และมีอะไรตามมาหลังเหตุการณ์นี้? ตามไปอ่านในบทความกันเลยครับ
การปฏิรูปการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาลที่เกิดขึ้นใน #รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายขึ้นในประเทศไทย จากประเทศซึ่งใช้ ระบบกินเมือง รัฐบาลมีอำนาจอย่างเด็ดขาดในบริเวณราชธานีและหัวเมืองใกล้เคียง โดยหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปถูกปกครองอย่างหลวมๆค่อนข้างเป็นอิสระ เจ้าเมืองแต่ละคนได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองอยู่ในเขตเมืองของตนซึ่งสืบตระกูลกันมา และมีผลประโยชน์จากอภิสิทธิ์ของการเป็นชนชั้นปกครอง มีหน้าที่เก็บส่วยอากรและผลประโยชน์อื่นๆ ส่งให้รัฐบาลหลังจากหักส่วนของตนไว้แล้ว โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาล สภาพการณ์เช่นนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรัฐบาลสยาม ขยายการปฏิรูปออกสู่หัวเมืองในภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตที่มีการปกครองอย่างเบาบางมากจากส่วนกลาง
การปกครองหัวเมืองโดยระบบรวมศูนย์อำนาจ หรือที่เรียกว่าเทศาภิบาล รัฐบาลสยามได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพการปกครองและสภาพความเป็นอยู่ ทำให้ราษฎรไม่เคยชินต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจอันมีมาแต่เดิม และแรงกระตุ้นจากสถานการณ์ในดินแดนปกครองของฝรั่งเศสที่ชนพื้นถิ่นมักจะต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส และคอยความหวังให้ผู้มีบุญมาแก้ไขให้กลับไปอยู่ในลักษณะเดิม เมื่อเกิดข่าวลือเกี่ยวกับผู้มีบุญขึ้นในมณฑลอีสาน จึงลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลสยามไม่อาจควบคุมได้ ผลก็คือเกิดขบถผู้มีบุญหรือขบถผีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันตามท้องที่ต่างๆ ในภาคอีสาน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องขบถผีบุญนี้ ไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีว่า ในประมาณปีชวด ( พ.ศ.๒๔๓๓ ) เกิดลายแทงที่มีลักษณะเป็นคำพยากรณ์ขึ้นกล่าวว่า
“... ถึงกลางเดือน ๖ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๔๔) จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง เงินทองจะกลายเป็นกรวดทราย ก้อนกรวดในหินแลง จะกลายเป็นเงินทอง หมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคนแล้วมีท้าวธรรมมิกราชผีบุญจะมาเป็นใหญ่ในโลก ใครอยากพ้นภัยให้คัดลอกบอกตามลายแทงกันต่อๆไป ใครอยากมั่งมีก็ให้เก็บหินกรวดแลงไว้ให้ท้าวธรรมมิกราชชุบเป็นเงินเป็นทอง...”
ข่าวลือนี้สร้างความตื่นตระหนก และมีราษฎรเชื่อถือปฏิบัติตามกันอย่างแพร่หลาย จนมีผู้ฉวยโอกาสตั้งตัวเป็นท้าวธรรมมิกราชผีบุญหลายคน พวกผีบุญได้ชักชวนผู้คนเข้าเป็นพรรคพวกอยู่ประมาณปีกว่าๆ มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลไม่กล้าเข้าไปจับกุมเพราะไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดหรือไม่ทำให้เกิดผีบุญกว่าร้อยคนเกิดกระจายกันอยู่ในบริเวณซึ่งเป็นจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ที่สำคัญมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ อ้ายบุญจันที่เมืองขุขันธ์ (อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน) กลุ่มที่ ๒ อ้ายเล็กที่เมืองสุวรรณภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) และ กลุ่มที่ ๓ อ้ายมั่นที่แขวงเขมราฐ (อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน)
เมื่อฝ่ายรัฐบาลเริ่มดำเนินการปราบปรามในชั้นแรกก็ไม่จริงจังเด็ดขาด โดยส่งกำลังเพียงเล็กน้อยเข้าไปจับหัวหน้าพวกผีบุญได้รับความเลื่อมใสศรัทธามีคนเข้าด้วยมากขึ้นจนถึงขั้นจะยึดเมืองอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งตัวหลังจากยึดเมืองเขมราฐได้แล้ว รัฐบาลต้องทุ่มเทกำลังเข้าปราบปรามอย่างเต็มที่ โดยระดมกำลังทหารจากมณฑลนครราชสีมา อุดร อีสาน และบูรพาเข้าปราบพวกผีบุญที่กระจายอยู่ตามท้องที่ต่างๆ ในการรบครั้งสำคัญที่บ้านสะพือเขตเมืองอุบลราชธานี ต้องใช้ทหารจากกรุงเทพกว่า ๑๐๐ นายเศษ จากที่มีอยู่ในเมืองอุบลในขณะนั้นกว่า ๒๐๐ นาย เนื่องจากทหารพื้นเมืองไม่กล้าเข้ารบกับพวกผีบุญ แต่ก็ปราบปรามพวกผีบุญได้อย่างราบคาบในเวลาอันรวดเร็ว เพราะพวกผีบุญทำการต่อสู้ซึ่งหน้า ทำให้ทหารมีโอกาสใช้อาวุธทันสมัยอย่างเต็มที่
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ขบถผีบุญหรือขบถผู้มีบุญจะถูกปราบปรามได้อย่างรวดเร็วในระหว่างเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ – เดือนพฤษภาคม ๒๔๔๕ โดยใช้มาตรการทางทหารและการปกครองอย่างเฉียบขาดและรุนแรง ออกประกาศห้ามไม่ให้ราษฎร กรมการเมืองต่างๆ ให้ความช่วยเหลือหรือแอบซ่อนพวกผีบุญ และยังต้องจับส่งมายังข้าหลวงหรือกกองทหารที่ขึ้นไปตั้งกองอยู่ และคาดโทษประหารสำหรับผู้ฝ่าฝืน ตลอดจนห้ามการทรงเจ้าเข้าผีหรือการนับถือผีใดๆ แต่ความสำเร็จของรัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไขสาเหตุของการเกิดขบถแต่อย่างใด กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงมณฑลอีสานเองมีรับสั่งว่า การเพาะพวกจลาจลนี้ เข้าใจว่ามันยังพวกฉลาดๆ ซึ่งไม่ออกน่า เที่ยวเพาะไปเงียบ ๆ อีกหลายพวก ซึ่งหมายความว่าการขบถก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีกตราบใดที่สภาพแวดล้อมยังเอื้ออำนวย
ที่กล่าวว่า #สภาพแวดล้อมที่ยังเอื้ออำนวย นั้น เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายๆ ด้านประกอบกันซึ่งต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ได้แก่ ๑) สถานการณ์ทางด้านการเมือง ๒) สภาพเศรษฐกิจ และ ๓) สภาพสังคม มีรายละเอียด ดังนี้
ใน #ด้านการเมือง นั้น เมื่อไทยต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายให้กับฝรั่งเศสทำให้สถานภาพของความเป็นผู้นำของรัฐบาลสยามสั่นคลอน ซ้ำยังมีข่าวลือว่า ผู้มีบุญจะมาทางตะวันออก เจ้าเก่าหมดอำนาจ ศาสนาก็สิ้นแล้ว... บัดนี้ฝรั่งเข้าไป เต็มกรุงเทพฯแล้ว กรุงจะเสียแก่ฝรั่งแล้ว... ทำให้สถานการณ์เกิดความไม่แน่นอน บุคคลบางกลุ่มจึงก่อการจลาจล ประกอบกับในการปฏิรูปไม่ได้ดึงกรมการเมืองทั้งหมด เข้าสู่ระบบใหม่ทำให้ผู้ไม่พอใจตั้งตนเป็นผีบุญ โดยอาศัยสถานการณ์ตามลายแทง เช่น ผีบุญที่ขุขันธ์ โขงเจียม เป็นต้น
ใน #ด้านเศรษฐกิจ โดยปกติแล้วราษฎรในภาคอีสานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแร้นแค้นอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเสียเงินส่วยให้กับราชการจึงเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก บางครั้งยังถูกกรมการเมืองที่สูญเสียผลประโยชน์จากระบบเดิมฉ้อโกงอีก โดยเฉพาะตามหัวเมืองที่อยู่ไกลข้าหลวง เช่น การออกตั๋วพิมพ์รูปพรรณการซื้อขายโคกระบือ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของภาคอีสาน จากความขัดสนที่ได้รับทำให้ราษฎรหันมายึดมั่นในลายแทงที่บอกว่าค่าครองชีพจะลดลง หินกรวดทรายจะกลายเป็นเงินทอง เหล่านี้เป็นความหวังของคนยากจนจริงๆ ที่ไม่มีหวังว่าสภาพของตนจะดีขึ้นได้
และ #สภาพสังคม ในภาคอีสานขณะนั้นราษฎรดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาพสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นของตัวเองอันเกิดจากความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ปะปนกัน ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ลักษณะโดยทั่วไปเป็นคนไว้ใจคนง่าย หูเบา เชื่อถือโชคลาง ซื่อสัตย์ และไม่เดียงสา ประกอบกับราษฎรโดยทั่วไปยังคงยึดมั่นในประเพณีเก่าขาดการศึกษาจึงชอบมีชีวิตอยู่ตามแบบดั่งเดิมของตนเมื่อเกิดความยากจนและถูกบีบคั้นทางจิตใจมากขึ้น ตลอดจนความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในคำอวดอ้างของพวกผีบุญ ทำให้ราษฎรเกิดความหวังและหันไปยึดมั่นกับพวกผีบุญเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นต้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งกองตำรวจภูธรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ดียิ่งขึ้น ประกาศห้ามราษฎรนับถือผีสางและไสยศาสตร์ต่างๆ จัดตั้งศาลยุติธรรม ควบคุมการเก็บส่วยให้รัดกุมขึ้นปรับปรุงระบบคมนาคม โดยเฉพาะการจัดการศึกษา เนื่องจากสภาพไร้การศึกษาของประชาชนที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับปรุงประเทศตามแบบแผนใหม่ โดยจัดการศึกษาผ่านทางคณะสงฆ์ด้วยความคิดที่ว่าหากราษฎรมีความรู้มากขึ้น คงมีความคิดตริตรองมากขึ้น ไม่หลงเชื่อการหลอกลวงในสิ่งที่ผิดอย่างง่ายๆ เช่นที่ผ่านมา ทั้งข้าราชการ บ้านเมืองที่ทำอยู่ก็จะเจริญขึ้น ตลอดจนพัฒนาสิ่งก่อสร้างถนนหนทางโดยจ้างงานคนพื้นถิ่นของรัฐบาลอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสาน และขจัดเงื่อนไขในการก่อการจลาจลที่จะมีมาในอนาคต
อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขบถผีบุญหรือขบถผู้มีบุญของภาคอีสานใน ร.ศ.๑๒๐ ถึงแม้จะมีลักษณะเป็นขบถมวลชนที่ไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลกลางนำมาใหม่เพราะดูเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระที่มีมาแต่เดิม แต่ก็เป็นปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมที่แสดงออกเพื่อการต่อต้านของกลุ่มที่ถูกลิดรอนอำนาจหรือสูญเสียผลประโยชน์อันเนื่องมาจากปฏิรูปการปกครองให้เหมาะสมกับกาลสมัย สภาพอันแร้นแค้นของราษฎร ตลอดจนตัวข้าราชการกรมการเมืองอันเป็นกลไกลของรัฐบาลก็มีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองระบบมณฑลในอีสานในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๕ ยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง นอกจากจะเป็นเพราะขาดกำลังพลอย่างเพียงพอในการเป็นกลไกของรัฐบาลในการปฏิรูปแล้ว สภาพด้อยการศึกษาทำให้ราษฎรไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการปฏิรูป และความล้าหลังทางเศรษฐกิจยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย รัฐบาลสยามจึงได้ดำเนินการเพื่อขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะนำมาใช้จนไม่เปิดโอกาสให้ฟื้นฟูอิทธิพลได้อีก การปฏิรูปการปกครองมาสู่ระบบเทศาภิบาลจึงประสบความสำเร็จในบั้นปลายนั่นเองครับ
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 813 ครั้ง)