“ สถานพระนารายณ์ ” จาก สถานรวบรวมโบราณวัตถุ สู่ ศักดิ์สิทธิ์สถาน ของชาวโคราช

สถานพระนารายณ์ จาก สถานรวบรวมโบราณวัตถุ สู่ ศักดิ์สิทธิ์สถาน ของชาวโคราช

___________________________________

บริเวณจุดกึ่งกลางเมืองนครราชสีมา นอกจากจะเป็นจุดสูงสุดของเมืองนครราชสีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็น หัวใจของเมืองอีกด้วย เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ที่ชาวโคราชให้ความเคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน อันได้แก่ วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) ศาลหลักเมือง และสถานพระนารายณ์ ที่จะนำมาเสนอในวันนี้ครับ

.

จุดเริ่มต้นของ สถานพระนารายณ์ นั้น คงเริ่มต้นจากการเป็นจุดที่ผู้คนในอดีต นำโบราณวัตถุ ประเภทชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง ปราสาทจำลอง กรอบประตู ประติมากรรมรูปเคารพ และรูปบุคคลหินทราย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 มารวบรวมไว้ ทางด้านทิศใต้ของคูน้ำรอบอุโบสถ วัดกลางนคร แต่จะเริ่มต้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไป จุดรวบรวมโบราณวัตถุแห่งนี้ จึงถูกขนานนามหรือเรียกชื่อใหม่ โดยยึดโยงจากรูปเคารพพระนารายณ์ที่พบ ว่า หอนารายณ์ ศาลพระนารายณ์ และสถานพระนารายณ์ ในเวลาต่อมา

.

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เราเห็นว่า สถานพระนารายณ์ ถูกยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชให้ความสำคัญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยกว่า 122 ปี โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์คราวล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตร และสักการะ ณ หอนารายณ์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2443 โดยจากภาพถ่ายเก่าจะเห็นได้ว่า สถานพระนารายณ์ในอดีต ถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่ถาวร กระทั่ง พ.ศ.2511 สถานพระนารายณ์ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารถาวรดังเช่นในปัจจุบัน

.

ใน พ.ศ.2507 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานมหาวีรวงศ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย สถานพระนารายณ์ ในวันนี้ จึงหลงเหลือโบราณวัตถุเพียง 2 รายการเท่านั้น ได้แก่ 1. ประติมากรรมรูปพระนารายณ์ และ 2. ประติมากรรมพระคเณศวร์ ให้ประชาชน ได้เคารพจวบจนถึงปัจจุบัน และจากการขุดค้นทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2562 ไม่พบหลักฐาน หรือร่องรอยศาสนสถานใต้ผิวดิน จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โบราณวัตถุดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น แต่จะเป็นที่ใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน

.

ในอนาคตอันใกล้ สถานพระนารายณ์ หลังนี้ กำลังจะถูกรื้อ และสร้างใหม่ ให้งดงาม สมเกียรติ คนโคราช โดยได้รับความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลาย พ.ศ.2565 ที่จะถึงนี้ การนำเสนอในครั้งนี้ จึงมีความตั้งใจให้ทุกท่านได้รำลึก และรู้จัก สถานพระนารายณ์ แห่งนี้ไปพร้อมกัน ครับ

เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา

(จำนวนผู้เข้าชม 4689 ครั้ง)

Messenger