...

แหล่งตัดหินโบราณบ้านส้มกบงาม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 9 บ้านส้มกบงาม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งตัดหินโบราณบ้านส้มกบงาม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 9 บ้านส้มกบงาม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา (ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณเสมา ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร) โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นลานหินธรรมชาติ กระจายตัวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันพบร่องรอยการตัดหินทรายสีแดง รวมทั้งสิ้น 4 จุด พิกัดทางภูมิศาสตร์ UTM โซน 47P 1661400.08 ม. เหนือ 801588.99 ม. ตะวันออก

.

โดยแหล่งตัดหินโบราณบ้านส้มกบงามนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ อุทยานธรณีโคราช หรือ #โคราชจีโอพาร์ค เพราะปรากฏร่องรอยกิจกรรมเเละภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างหินทรายไปรังสรรค์ให้ก่อเกิดสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นทางวัฒนธรรม

.

ลักษณะร่องรอยการตัดหินที่พบนั้น พบร่องรอยการตัดหินที่มีการเคลื่อนย้ายหินออกไปแล้ว โดยอาจใช้เทคนิควิธีเดียวกันกับแหล่งตัดหินอื่นๆ ที่พบในเขตพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์เเละนครราชสีมา คือ ใช้เครื่องมือเหล็ก ประเภทสิ่ง เซาะหินทรายเป็นแถวยาว แล้วตัดแบ่งออกเป็นก้อนสี่เหลี่ยม เมื่อได้ขนาดที่ต้องการเเล้ว จึงสกัดด้านล่างออกเป็นแท่งสี่เหลี่ยม แล้วจึงเคลื่อนย้ายออกไปใช้ประโยชน์ โดยหินทรายเหล่านี้ เป็นวัสดุหลักที่สำคัญในการใช้ก่อสร้างปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ที่พบในหลายแห่งของจังหวัดนครราชสีมาของเราครับ

.

นอกเหนือจากแหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม อำเภอสูงเนิน เเล้ว ในเขต #จังหวัดนครราชสีมา ยังพบแหล่งตัดหินโบราณอีกหลายแห่ง ได้แก่ #อำเภอสีคิ้ว พบแหล่งตัดอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย 1 แหล่งตัดหินมอจะบก (ติดถนนมิตรภาพ) 2 แหล่งตัดหินด้านหน้าเเละด้านในวัดป่าเขาหินตัด 3 แหล่งตัดหินวัดโบสถ์ริมบึง และ #อำเภอปักธงชัย ประกอบด้วย 1 แหล่งตัดหินใกล้โบราณสถานกู่เกษม ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะ คล้ายคลึงกันคือปรากฏร่องรอยการสกัดเเละตัดหินทรายเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผัา

.

จากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ที่พี่นักโบ เลือกมานำเสนอ จะเห็นว่า บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงของแหล่งตัดหินโบราณ ปรากฏ ปราสาทในวัฒนธรรมเขมร หลายแห่ง ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองเก่า ปราสาทบ้านบุใหญ่ เเละปราสาทบ้านหัวสระ รวมไปถึงโบราณสถานหมายเลข 1 กลางเมืองเสมา ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 16-18 ด้วยเพราะใกล้วัสดุสำคัญอย่างหินทราย จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พื้นที่บริเวณนี้พบการสร้างปราสาทหลายหลัง นั่นเองครับ

เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 668 ครั้ง)


Messenger