“…ส่วนตัวเมืองนครราชสีมานั้น ก็มีความเชื่อใจว่า #ถ้าไม่ตายเสียก่อนคงจะได้ไปเห็น เป็นการแน่ใจมากกว่าประเทศยุโรป ซึ่งไม่เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บจะปล่อยให้ไปได้..”
.
พระราชหัตถเลขาที่กล่าวถึงข้อความดังกล่าว ระบุปี รัตนโกสินทรศก ที่ ๑๑๐ หรือตรงกับ ปี ๒๔๓๔ ซึ่งทุกท่านๆ ทราบหรือไม่ ? ครับ ว่าจริงๆแล้ว หลังจากนั้น ๖ ปี ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จไปทวีปยุโรปเป็นครั้งเเรก ในปี ๒๔๔๐ ก่อนจะได้เสด็จมา #เมืองนครราชสีมา ของเราเสียอีก
.
หลังจากเสด็จกลับจากยุโรปได้ ๓ ปี พระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน เมืองนครราชสีมา ในคราวเปิด เปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีระยะทางทั้งสิ้น ๒๖๕ กิโลเมตร งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๑๗,๕๘๕,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๒๑ธันวาคม ปี ๒๔๔๓ โดยเดินทางถึงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางมณฑลลาวกลาง ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน และประทับพักแรมเพื่อตรวจราชการ เยี่ยมเยี่ยนราษฎร ตลอดจนทอดพระเนตรโบราณสถาน จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ปี ๒๔๔๓ จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร โดยรถไฟ รวมเวลากว่า ๔ วัน ๓ คืน ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองนครราชสีมาในครั้งนี้ นับเป็น #ครั้งแรกและครั้งเดียวตลอดรัชสมัย จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี ๒๔๕๓
.
การเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชสีมาในครั้งนี้ นอกเหนือจากพระราชภารกิจตรวจราชการส่วนราชการต่างๆ และเยี่ยมเยียนพสกนิกร แล้ว พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง อาทิ ศาลหลักเมือง วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร) สถานพระนายณ์ รวมไปถึง กำแพงเมือง ประตูเมือง ซึ่งอยู่ในเขตเมืองนครราชสีมาแล้ว ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ปี ๒๔๔๓ พระองค์ เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง โบราณสถานปราสาทพนมวัน ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางกว่า ๑๕ กิโลเมตร
.
โดยรายละเอียดการเดินทางดังกล่าวถูกบันทึกไว้ ความว่า “… #แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งไปประพาสวัดพนมวัน ทอดพระเนตรอันเป็นของโบราณ ทำด้วยศิลาแลงแท่งใหญ่ๆ ประดับซ้อนขึ้นไป แล้วทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยเป็ยอักษรย่อ จ.ป.ร. ในแผ่นศิลาฝาผนังวิหาร และมีอักษรว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาส เมื่อ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙” แลลงวันตามจันทรคติ วัน ๒ เดือน ๒ ขึ้น ๔ ค่ำ พุทธศักราช ๒๔๔๓
.
ซึ่งแม้ในขณะนี้ เราจะยังไม่พบภาพถ่ายเก่าเพื่อยืนยันเหตุการณ์ให้ชัดเจนในคราวล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินในช่วงเวลานั้น แต่จารึกพระปรมาภิไธยย่อ พร้อมด้วยข้อความดังกล่าว เป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ชัดเจนเป็นอย่างดี เพราะการจารึกในลักษณะปรากฏในอีกหลายสถานที่ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
.
ด้วยเพราะกิจการรถไฟ จึงทำให้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
ได้เสด็จพระราชดำเนิน เมืองนครราชสีมา ได้ตามพระราชประสงค์ และยังได้เสด็จทอดพระเนตรปราสาทพนมวัน ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยอีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าการเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชสีมาของพระองค์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตลอดรัชสมัย
นับตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ปี ๒๕๖๔ เป็นต้นมา กรมศิลปากร ได้เริ่ม เปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมโบราณสถานปราสาทพนมวันเป็นครั้งแรก ในราคา ๑๐ บาท สำหรับชาวไทย และราคา ๕๐ บาท สำหรับชาวต่างชาติ หากมีโอกาสแวะเวียนมายังเมืองนครราชสีมา ก็อยากให้เข้ามาเยี่ยมชมกับนะครับ เพราะในปัจจุบันได้ดำเนินการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
แหล่งอ้างอิง
พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่เมืองนครราชสีมา ร.ศ.110 หรือ พ.ศ.2434
กรมศิลปากร, รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา เรื่อง การเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟ (กรุงเทพฯ: พระนคร, 2511), น. 104-116.
(จำนวนผู้เข้าชม 801 ครั้ง)