#พี่นักโบชวนเที่ยวทิพย์ "...ตามรอยสยามมกุฎราชกุมาร ทอดพระเนตรโบราณสถาน...เมืองนครราชสีมา..."
.
นับตั้งแต่ กิจการรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2443 โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชสีมา ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดเส้นทางเป็นปฐมฤกษ์ นั้น กิจการรถไฟสยามก็เติบโตเรื่อยมา โดยนำความเจริญมาสู่เมืองนครราชสีมา ในฐานะประตูสู่ที่ราบสูง ก่อให้เกิดการคมนาคม การแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคและบริโภคได้สะดวก และหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่ากิจการรถไฟทำให้เมืองนครราชสีมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบัน
.
หลังจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชได้ 3 ปีนั้น ในปี พ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวดำรงพระอิสริยายศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 22 พรรษา) พร้อมด้วยสมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 14 พรรษา) และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 41 พรรษา) ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชสีมา ในระหว่างวันที่ 10-20 มกราคม พ.ศ.2446 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจราชการเมืองนครราชสีมา ในฐานะศูนย์กลางมณฑลนครราชสีมา (ลาวกลาง) และเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานในหลายแห่ง อาทิ 1. อำเภอสูงเนิน ประกอบด้วย เมืองโบราณเสมา ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ 2. อำเภอพิมาย ประกอบด้วย ปราสาทพิมาย ท่านางสระผม กุฏิฤาษี ไทรงาม และ 3. อำเภอเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ปราสาทพนมวัน
.
โดยในวันนี้ พี่นักโบ ขอพาทุกท่านตามรอยสยามมกุฏราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เเละคณะ เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน กันครับ
#เริ่มต้นเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน...
°วันที่ 12 มกราคม เวลาเช้า 1 โมงเศษ ได้เสด็จทรงม้าไปประทับรถไฟพิเศษไปประพาสอำเภอสูงเนิน เมื่อถึงสะเตชั่นสูงเนิน ได้เสด็จทรงม้าไปประทับที่ว่าการอำเภอประมาณครู่หนึ่ง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรเสมาร้าง (สันนิษฐานว่าคือเมืองโบราณเสมา) แลเทวสถานที่เมืองเก่า ซึ่งราษฎรเรียกว่าเมืองแขก กับเทวสถานกู่แลเทวสถานที่เมืองเก่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นรถไฟพิเศษที่ตำบลกุดจิก กลับไปประทับพลับพลาเมืองนครราชสีมา
.
°วันที่ 14 มกราคม เวลาเช้า 1 โมงเศษ เสด็จทรงม้าออกจากหนองบัวบ้านตูม (บ้านตูม ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช) ไปประทับร้อนที่พลับพลาห้วยศักราช (ปัจจุบันเรียก ห้วยจักราช) อำเภอ #เมืองพิมาย เวลาบ่าย 1 โมงเศษ เสด็จทรงช้างไปถึงวังหิน แล้วเสด็จประทับเรือทอดพระเนตรลำน้ำวังหิน ไปขึ้นที่ท่าริมเมือง แล้วเสด็จทรงช้างมาประทับแรมที่พลับพลาเมืองพิมาย เวลาประมาณย่ำค่ำเศษ
.
°วันที่ 15 มกราคม เวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร #ปราสาทหินแลคลังเงิน (ปัจจุบันเรียก พลับพลาเปลื้องเครื่อง ปราสาทพิมาย) ซึ่งก่อด้วยหิน ตามที่ราษฎรได้เรียกกันมาแต่เดิม เมื่อทรงทอดพระเนตรทั่วแล้ว ได้เสด็จกลับยังพลับพลา ครั้นเวลาบ่ายได้เสด็จวอทอดพระเนตร #สระเพลง แล #เมรุพรหมทัตแล้วเสด็จประทับพลับพลาที่สนามหญ้าริมที่ว่าการอำเภอ ทอดพระเนตรมวย แล้วเสด็จประทับที่ว่าการอำเภอพิมาย มีรับสั่งให้นายเหม นายอำเภอเมืองพิมาย ทดลองเครื่องสัญญาชนิดที่เรียกลูกบ้าน มาประชุมจับโจรผู้ร้าย เมื่อลูกบ้านถือสาตราวุธมาประชุมพร้อมกัน ทอดพระเนตรแล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ
.
°วันที่ 16 มกราคม เวลาเช้า เสด็จทรงม้าไปทอดพระเนตร #ท่านางสระผม #กุฏิฤาษี #ไทรงาม แล้วเสด็จลงประทับเรือมาตามลำน้ำมูล มาขึ้นที่ท่าสงกรานต์ เลยเสด็จกลับมายังพลับพลา ทอดพระเนตรการที่นายอำเภอลองเครื่องสัญญาชนิดจับโจรอีก เพื่อให้ช่างถ่ายรูปลูกบ้านที่มาประชุมนั้นไว้ แล้วทอดพระเนตรมวย ซึ่งนายอำเภอจัดมาถวาย
.
°วันที่ 17 มกราคม เวลาเช้า เสด็จทรงช้างออกจากอำเภอเมืองพิมายมาประทับร้อนที่พลับพลาบ้านโคกพระ เวลาบ่ายประมาณ 2 โมง เสด็จทรงม้ามาประทับแรมที่พลับพลาบ้านทองหลาง อำเภอกลาง (สันนิษฐานว่าคือ บ้านทองหลาง ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง) ในที่นั้นได้มีมวยถวายทอดพระเนตร 1 คู่
.
°วันที่ 18 มกราคม เสด็จทรงช้างจากพลับพลาบ้านทองหลางมาประทับพักร้อนพลับพลาวัดพนมวัน ท้องที่อำเภอเมือง แลทรงทอดพระเนตรเพลงและ #ปราสาทหิน เวลาบ่าย เสด็จทรงช้างเข้าเมืองนครราชสีมา ประทับพลับพลาที่กองทหาร จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 มกราคม จึงประทับรถไฟพิเศษกลับกรุงเทพฯ
กว่า 6 วัน ที่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ให้
.
ความสนใจในการเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน ทั้งในเขตอำเภอสูงเนิน อำเภอพิมาย และอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจโบราณสถานต่างภูมิภาค เพราะหลังจากเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชาสีมาได้ 4 ปีนั้น พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรโบราณสถานที่เมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองศรีสัชนาลัย เมืองพิษณุโลก และเมืองพิจิตร กว่า 67 วัน ดังปรากฏในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง ซึ่งสามารถตามไปอ่านกันได้เลยครับ
.
เอกสารอ้างอิง
อ้างอิงข้อมูลจาก สำเนา ลายพระหัตถ์ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ถึง กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จตรวจประพาสตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา ที่ 2453/13050 ลงวันที่ 4 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 122 (พ.ศ.2446) จากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครราชสีมา น.178-182
.
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
ออกแบบกราฟฟิกโดย นายธันยธรณ์ วรรณโพธิพร ผู้ช่วยนักโบราณคดี(จำนวนผู้เข้าชม 2154 ครั้ง)