๒๘ กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย
๒๘ กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย
กำเนิดธงสยาม
ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน
ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวตามความในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทยไว้ว่า
“ปกติคนต่างชาติที่ล่องมาทางเรือจะไปอยุธยา ต้องผ่านเจ้าพระยา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกิดที่ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมฝรั่ง เพราะพระยาวิชเยนทร์ เกณฑ์แรงงานฝรั่งมาสร้างไว้ ปัจจุบันคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ปกติเรือสินค้าสำคัญ เรือที่มากับราชทูตที่จะผ่านต้องมีธรรมเนียมประเพณีคือ ชักธงประเทศของเขาบนเรือ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า มาถึงแล้ว เมื่อเรือฝรั่งเศสชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายสยามยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม ซึ่งขณะเดียวกันสยามเองต้องชักธงขึ้นด้วย เพื่อตอบกลับว่า ยินดีต้อนรับ แต่ตอนนั้นทหารประจำป้อมวิไชยเยนทร์ไม่เคยพบประเพณีแบบนี้ และสยามไม่มีธงสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นธงชาติมาก่อน จึงคว้าผ้าที่วางอยู่แถวนั้น ซึ่งดันหยิบธงชาติฮอลันดาชักขึ้นเสาแบบส่งเดช เมื่อทหารฝรั่งเศสเห็นก็ตกใจไม่ยอมชักธงและไม่ยอมยิงสลุต จนกว่าจะเปลี่ยน เพราะการที่ได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง”
รัชกาลที่ ๑ – ๓
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง” สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ “จักร” ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก ๓ ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม
รัชกาลที่ ๔ – พุทธศักราช๒๔๕๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรในพุทธศักราช ๒๓๙๘ พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ธงที่ใช้กับเรือหลวง ถูกปรับรูปแบบอีกครั้ง จากช้างสีขาวธรรมดา ปรับให้เป็น “ช้างทรงเครื่องยืนแท่น” หันหน้าเข้าข้างเสา เนื่องจากช้างเผือกเปรียบเป็นเครื่องแทนตัวของพระมหากษัตริย์แล้ว ดังนั้นการปรับให้ช้างทรงเครื่องยืนแท่น จึงเพื่อความสง่างามและเหมาะสมกับชั้นของพระมหากษัตริย์
ธงแดงขาว ๕ ริ้ว (พุทธศักราช ๒๔๕๙)
ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว เนื่องจากในยุคนั้นถือว่าธงชาติหายาก ราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ ชาวบ้านต้องเก็บรักษา ขณะเดียวกันพระเจ้าแผ่นดินนานๆ ถึงเสด็จที ทำให้ชาวบ้านที่ชักธงสู่เสาไม่ทันระวัง ชักธงกลับหลัง ปรากฏภาพช้างหงายท้อง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ มีพระราชดำริว่า ธงช้างทำยากและไม่ใคร่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ โดยธงช้างที่ขายตามท้องตลาดนั้นมักจะเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศและประเทศที่ทำไม่รู้จักช้าง ดังนั้น รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง ๓ แถบ สลับกับแถบสีขาว ๒ แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว ๕ ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๔๐ และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๓
ธงไตรรงค์ (พุทธศักราช ๒๔๖๐ – ปัจจุบัน)
ล่วงมาถึงพุทธศักราช ๒๔๖๐ แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ ๖ ทรงเลือกสีนี้ สาเหตุหนึ่งมากจากการที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากการที่พระองค์ทรงอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๖๐ มีผู้เขียนเรื่องธงใช้นามปากกาว่า “อะแควเรียส” มีสาระว่า “ธงห้าริ้วสวยงามดี แต่หากจะให้ดีน่าจะมีสีน้ำเงินใส่เข้าไปด้วย เพราะสีน้ำเงิน เป็นสีแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศ” อีกทั้งการที่พระองค์ได้เลือกสีนี้เพราะสีขาบเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ ตามคติโหราศาสตร์ไทย และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย
พระองค์จึงทรงประดิษฐ์ธงชาติใหม่โดยนำสีน้ำเงินเป็นสีที่ถูกโฉลกกับพระองค์ เพราะทรงพระราชสมภพวันเสาร์ แต่ครั้นจะเติมให้เป็นสีม่วงตามสีวันพระราชสมภพ พระองค์จึงลองผสมสีม่วงเข้ากับสีน้ำเงิน และได้ออกมาเป็นมีใหม่ คือ สีขาบ ที่มีลักษณะน้ำเงินเข้มอมม่วง พระองค์จึงออกแบบธงชาติใหม่ให้เป็นแบบ ๕ ริ้วโดยมีสีขาบอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยสีขาว และต่อด้วยสีแดง และพระองค์ทรงพระราชทานชื่อเรียกว่า “ธงไตรรงค์” พร้อมความหมาย สีแดงหมายถึงเลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ และ สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
ธงชาติแบบใหม่นี้ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังใช้ธงไตรรงค์ไปแล้ว ๑๐ ปี มีแนวคิดจะปรับรูปแบบของธงชาติไทยอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีเจ้านายหลายพระองค์อยากให้กลับไปใช้ธงช้างเผือก ธงจักรี เหมือนเดิม จนถึงขั้นมีการเขียนข้อความดูหมิ่นดูแคลนว่าธงไทยเหมือนฝรั่งเกินไป จะเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น
จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ รัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบันทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๗๐ ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ รัฐบาลต่าง ๆ ก็ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม และรับรองมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พุทธศักราช ๒๕๒๒ เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์
ต่อมาวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๒๘ กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 139494 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน