...

ผลการตรวจสอบแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า หมู่ที่ 5 บ้านโนนสง่า ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

ผลการตรวจสอบแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า หมู่ที่ 5 บ้านโนนสง่า ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

ตำแหน่งที่ตั้ง: จุดที่พบโบราณวัตถุ อยู่ในเขตแปลงที่ดินของนายบัว เจริญคุณ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเนินวัดธาตุในเขต หมู่ที่ 5 บ้านโนนสง่า ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสารจังหวัดชัยภูมิ

บริเวณที่พบโบราณวัตถุ ตั้งอยู่นอกหมู่บ้านโนนสง่า มาทางด้านทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ 200 เมตร เดิมมีสภาพเป็นโนนหรือที่ดอน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร ราษฎรในพื้นที่เรียกว่า เนินวัดธาตุ แต่ในปัจจุบันมีสภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีการปรับพื้นที่ให้สำหรับทำเกษตรกรรมได้แก่เพาะปลูกอ้อย มีความสูง 219 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณด้านทิศตะวันออก ระยะห่างประมาณ 350 เมตร มีลำน้ำเชิญซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน จึงมีสภาพเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐาน

ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

การกำหนดอายุสมัยเบื้องต้น

ผลการกำหนดอายุสมัยเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า หมู่ที่ 5 บ้านโนนคูณ ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จากโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เครื่องมือเหล็ก อย่าง เสียมเหล็กมีบ้อง กำไลสำริด และลูกปัดแก้วใสสีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นโบราณวัตถุที่ผลิตและได้รับความนิยม ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก เพราะมนุษย์ในช่วงนั้นเกิดการติดต่อสันพันธ์ แลกเปลี่ยนสินค้า วัตถุดิบระหว่างกันทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาคผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า มีอายุในช่วง 2,500-1,500 ปีมาแล้ว หรือหากแบ่งอายุสมัยโดยการใช้วิถีการดำรงชีพและความเจริญทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวกำหนด มนุษย์ที่ประกอบกิจกรรมหรือพิธีกรรมในบริเวณนี้คงอยู่ในสมัยสังคมเมือง ซึ่งเป็นสมัยที่ผู้คนในสังคมเกษตรกรรมพัฒนาชุมชนเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับวิทยาการการใช้เหล็ก จึงทำให้รูปแบบสังคมมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ปริมาณชุมชนโบราณในสมัยเหล็กเพิ่มขึ้นจากชุมชนในสมัยเกษตรกรรมเป็นอย่างมากอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้เหล็ก

สำหรับเครื่องมือเหล็กที่พบในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ควรศึกษากันต่อไปว่าชุมชนโบราณแห่งนี้หรือชุมชนโบราณใกล้เคียง อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูณ ผลิตเครื่องมือเหล็กใช้เองหรือไม่ หากไม่สามารถผลิตเองได้จะเป็นไปได้หรือไม่ ชุมชนโบราณแห่งนี้นำเข้ามาจากภูมิภาคใด

การใช้งานพื้นที่

ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนเบื้องต้น สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งฝังศพ เนื่องจากโบราณวัตถุ อาทิ เสียมเหล็กมีบ้อง กำไลสำริด ลูกปัดแก้วใสสีน้ำเงิน และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ที่พบคงเป็นเครื่องอุทิศให้กับศพ

ความนิยมลูกปัดยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลจากการวิเคราะห์ ศึกษาเปรียบเทียบรูปทรง รูปแบบของลูกปัดแก้ว ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ผุสดี รอดเจริญ พบว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้น บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นิยมลูกปัดแก้วทรงเกือบเป็นแผ่นแบน สีส้ม ทึบแสงมากที่สุด และนิยม ทรงกลม เกือบกลม และกระบอกสั้น พบทุกสี (น้ำเงิน, ฟ้า, เขียว, แดง, ส้ม, เหลือง, ขาว, ทอง, ฟ้าอมเขียว, เขียวอมฟ้า)รองลงมา นอกจากนี้ยังพบลูกปัดแก้วลักษณะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ทรงกระบอกยาวคล้ายหลอด ทรง Truncated Bicone และทรงกระบอกที่มีความยาวและกว้างใกล้เคียงกัน ซึ่งลูกปัดแก้วที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า มีลักษณะเช่นเดียวกับลูกปัดแก้วใสที่พบจากแหล่งโบราณคดีโนนบ้านนางแดดเหนือและแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลวังชมภู อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีลักษณะตรงกับผลการวิเคราะห์ดังกล่าว

ความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ

จากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก (ภาพที่ 29 หน้า 19) แสดงให้เห็นการกระจายของแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอภูเขียว และอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคม ติดต่อสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ในช่วง 2,500-1,500 ปีมาแล้ว จะเห็นว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้น มีการเลือกตั้งถิ่นฐาน ใกล้กับแหล่งน้ำ และลำน้ำสำคัญ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในบริเวณใกล้เคียง

นอกเหนือจากปัจจัยการคมนาคม ติดต่อสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแล้ว ปัจจัยทางธรรมชาติก็เป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้ด้วย เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบมีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย อาทิ ลำน้ำชี ลำน้ำเชิญ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากเทือกเขาเขียว ภูแลนคา เพชรบูรณ์ และพังเหย ซึ่งมีสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก เหมาะกับการหาของป่าล่าสัตว์ สะดวกกับการดำรงชีวิตได้ทั้ง 2 ทาง

สำหรับโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสง่า อาทิ เสียมบ้องเหล็ก กำไลสำริด และลูกปัดแก้วใสสีน้ำเงิน เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่นๆ เพราะโบราณวัตถุเหล่านี้พบในแหล่งโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก ร่วมสมัยกัน ทั่วทั้งดินแดนไทย

คณะสำรวจ: 1. นางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ

2. นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

3.นายธันยธรณ์ วรรณโพธิ์พร ผู้ช่วยนักโบราณคดีโครงการฯ

 

(จำนวนผู้เข้าชม 2264 ครั้ง)


Messenger