พระราชประวัติสมด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์
วันนี้ #พี่โข่ทัยมีเรื๋องเล๋า มาแล้วค่าาาาาาาาา
.
ตามที่แอดมินได้แจ้งไว้นะคะ เรามีหนังสือเรื่อง "พระราชประวัติสมด็จพระนเรศวรมหาราชและพระราชวังจันทน์" มาแจกให้กับแฟนเพจผู้ติดตามที่น่ารักทุกท่าน....ท่านใดไม่ได้รับรางวัลนี้ ไม่ต้องสียใจค่ะ เดี๋ยวรอโหลดไฟล์พีดีเอฟไปอ่านกันต่อไปค่าาาา....
.
วันนี้เราขอเฉลยแต่ละข้อก่อนนะคะ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๒๖ คน ตอบได้ถูกต้องจำนวน ๒๔ คนค่ะ และเนื่องจากรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีมากกว่าหนังสือที่เราจะสามารถอภินันทนาการให้ครบทุกท่านได้ ดังนั้น แอดมินขอจับสลากรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า ท่านใดได้รับรางวัลบ้างต่อไปนะคะ ขอให้ลุ้นกันต่อไปค่ะ ส่วนท่านใดที่ไม่ได้รับหนังสือ ขอให้ท่านส่งที่อยู่มาในกล่องข้อความของสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย เพื่อรับปฏิทินเป็นอภินันทนาการต่อไปค่ะ
.
ในส่วนของเฉลยนั้น มีดังนี้ค่ะ
๑. ศิลาจารึกหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) เรียกว่า เมืองสรลวงสองแคว
ถูกต้อง ปรากฏใน ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๘ ว่า “.....รอดสรลวง สองแคว ลุมบาจาย.....”
๒. ศิลาจารึกหลักที่ ๓ (จารึกนครชุม) เรียกว่า เมืองสรลวง
ถูกต้อง ปรากฏใน ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕๐ ว่า “อันหนึ่งมีในเมืองฝาง อันหนึ่งมีในเมืองสระหลวง”
๓. ศิลาจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฏ) เรียกว่า เมืองสองแคว
ถูกต้อง ปรากฏใน ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๓ ว่า “เมืองสองแคว บุพระมหาธาตุ...” และด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๔-๕ ว่า “....อยู่ในสองแควได้เจ็ดเข้า...”
๔. จารึกหลักที่ ๑๑ (จารึกวัดเขากบ) กล่าวถึงเมืองสรลวง
ถูกต้อง ปรากฏในด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๑ ว่า “............อาวาสแต่นครสระหลวง มีพุทธปฏิมา........”
๕. จารึกหลักที่ ๓๘ (จารึกกฎหมายลักษณะโจร) กล่าวถึงชื่อเมืองสองแคว
จารึกนี้กล่าวถึงสองชื่อ คือ (๑)ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗ “....พระยาพังไทวยนทีศรียมนา...” และ (๒) ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๗ “...........ทำเนปรเชลียง กำแพงเพชร ทุ่งย้างปากยม สองแคว...”
๖. นิทานพระพุทธสิหิงค์ เรียกว่า เมืองทวิสาขะนคร
ปรากฏชื่อนี้ในนิทานพุทธสิหิงค์ ปริเฉจที่ ๕ ความว่า
ตทา อโยทยา ราชา รามาธิปติ นามโก อปฺปมาทํ ตสฺส ทิสฺวาน ทฺวิสาขนครา คโต ฯ
รุมฺหิตฺวา ตํ ลภิตฺวาน กตฺวา หตฺถคตตฺตโน เตชํ นาม สกํ ปุตฺตํ กาเรตฺวา ตํ นิวตฺตยิฯ
แปลว่า ครั้งนั้นพระราชานครอยุธยา ทรงพระนามว่ารามาธิบดี เห็นว่าพระธรรมราชาประมาท เป็นโอกาสแล้ว จึงเสด็จไปจากนครสองแคว เข้าโจมตียึดเมืองสุโขทัยได้ แล้วมอบให้พระราชบุตรพระนามว่า เจ้าเดช ครอบครอง พระองค์เสด็จกลับอยุธยา (นิทานพระพุทธสิหิงค์ แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร)
คำว่า ทวิสาขนคร หมายถึง สองแคว
๗. ในสมัยอยุธยาตอนต้นเรียกว่า เมืองชัยนาท เมื่อครั้งที่เจ้าสามพระยาถูกส่งมาปกครอง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงไว้ว่าหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราช ทรงระงับจลาจลที่หัวเมืองเหนือ “...แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าพญากินเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พญากินเมืองแพรกศรีราชา เจ้าสามพญากินเมืองไชนาฎ...”
๘. ลิลิตยวนพ่าย เรียกว่า เมืองพิษณุโลกเพียงชื่อเดียว
เรียก ๒ ชื่อ ได้แก่ ชัยนาท ในความที่ว่า “แถลงปางเมื่อลาวลง ชัยนาท นั้นฤๅ” และชื่อพิษณุโลก ในความว่า “ปางถกลกำแพงพระ พิษณุโลกย์แล้วแฮ” ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร กล่าวไว้ว่าชื่อพิษณุโลกคงได้เกิดขึ้นในตอนที่สร้างกำแพงเมืองดังที่เรื่องยวนพ่ายระบุไว้
๙. ชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกว่า เมืองชัยนาท
ปรากฏในข้อความ “ชยนาทปุรมฺหิ ทุพฺภิกฺขภยํ ชาตํ อันว่าภัยคือทุพภิกขข้าวแพงก็บังเกิดมีในเมืองชัยนาทบุรี”
๑๐. บันทึกฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “....ชาวโปรตุเกสเรียกเพี้ยนว่า ปอร์ซาลุก...”
๑๑. พงศาวดารเหนือ เรียกว่า เมืองโอฆะบุรี
ในพงศาวดารเหนือปรากฏสองนาม คือ พิศนุโลก และโอฆบุรี กล่าวถึงพระเจ้าศรีธรรมปิฎก ให้จ่านกร้องกับจ่าการบุรณ์สร้างเมืองใหม่ แล้วมีพระราชโองการถามพราหมณ์ พราหมณ์ทูลตอบว่า “...มาถึงวันนี้ได้ยามพิศณุ พระองค์ได้ชื่อเมืองตามคำพราหมณ์ว่าเมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่าโอฆบุรีตะวันออก ตะวันตกชื่อจันทรบูร”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายความท่อนนี้ไว้ในสาส์นสมเด็จว่าหมายถึง “เสด็จมาถึงในยามพิษณุเปนมงคล จึงขนานนามเมืองฝั่งตะวันออกว่า “พิษณุโลก” และเรียกว่า โอฆบุรี ด้วยอีกชื่อ ๑ เมืองทางฝั่งตะวันตกให้ชื่อว่า จันทบุระ”
นามโอฆบุรี ที่เป็นอีกชื่อหนึ่งของพิษณุโลก ยังปรากฏในคำกลอนสรรเสริญพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนแหล่เทศน์มหาชาติ ของพระกว้าง วัดประยุรวงศ์ กล่าวถึงเหตุการณ์รัชกาลที่ ๕ หล่อพระพุทธชินราช ในตอนต้นได้กล่าวอ้างถึงพงศาวดารเหนือ และกล่าวถึงนามเมืองพิษณุโลกไว้ว่า
๏ เสด็จสถิตอยู่พิษณุโลก อิกนามหนึ่งโอฆบุรี
ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์ วิหารสี่งามสูงทรง
* ๑๒. สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนชื่อว่า พิษณุโลก (แปลว่า เมืองที่มีความยิ่งใหญ่ประดุจพระศิวะ)
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนชื่อว่า พิษณุโลก แต่ชื่อนี้หมายถึงโลกแห่งพระวิษณุ
.
ดังนั้น ข้อที่ผิดมีเพียงข้อเดียว คือ ข้อที่ ๑๒ ค่ะ ที่ถูกต้องควร แปลชื่อเมืองพิษณุโลกว่า เมืองที่มีความยิ่งใหญ่ประดุจพระวิษณุหรือพระนารายณ์นั้นเองค่ะ
(จำนวนผู้เข้าชม 3834 ครั้ง)