องค์ความรู้เรื่อง...โบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล ตำบลนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
องค์ความรู้เรื่อง...โบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล ตำบลนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
#โบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล มีปราสาทประธาน 3 หลัง เรียงกันตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาททั้ง 3 หลัง มีประตูทางเข้าเฉพาะด้านทิศตะวันออก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัยตั้งอยู่ ศาสนสถานถูกล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และคูน้ำเว้นทางเข้าตามแนวแกนทิศด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ใช้วัสดุศิลาแลงและหินทราย ทั้งนี้ ปรากฏภาพสลักทับหลังที่น่าสนใจ ที่ติดกับตัวงปราสาท จำนวน 6 ชิ้น ดังนี้
#ชิ้นที่1 ทับหลังปราสาทหลังกลาง #สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประทับนั่งในท่ามหาราช (นั่งชันเข่า) ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก ประทับยืนอยู่เหนือหน้ากาล ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
#ชิ้นที่2 ทับหลังปราสาทหลังทิศเหนือ #สลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า อยู่ในกรอบซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
#ชิ้นที่3 ทับหลังบรรณาลัยด้านทิศใต้ #สลักภาพบุคคลไว้เครา ประทับนั่ง ขนาบข้างด้วยสตรี ซ้ายและขวา ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
#ชิ้นที่4 ทับหลังบรรณาลัยด้านทิศเหนือ #สลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า มือขวาถือดาบ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัย ขนาบด้วยสิงห์มือจับท่อนพวงมาลัย สันนิษฐานว่าเป็นเทพผู้ปกปักรักษาศาสนสถานแห่งนี้
#ชิ้นที่5 ทับหลังฝั่งตะวันออกของโคปุระด้านตะวันตก #สลักภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ เหนือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
#ชิ้นที่6 ทับหลังฝั่งตะวันออกของโคปุระด้านตะวันตก #สลักภาพพระวรุณทรงหงส์ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันตก ยืนอยู่เหนือหน้ากาล ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
จากรูปแบบศิลปกรรมของภาพสลักทับหลัง มีลักษณะคล้ายกับทับหลังศิลปะเขมร แบบาปวน จึงกำหนดอายุสมัยโบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล มีอายุอยู่ในช่วง ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16
หลายคนคงสงสัยว่า #ทับหลังแบบบาปวน ดูจากอะไร? ขอให้ทุกคนสังเกต โครงสร้างหลักของทับหลังแบบบาปวน คือ หน้ากาลอยู่กึ่งกลางด้านล่างของทับหลัง เหนือหน้ากาลมีรูปบุคคล ซึ่งอาจมีพาหนะหรือไม่ก็ได้ หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยวกขึ้นแล้วตกลงเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ม้วน เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตั้ง ทั้งนี้อาจมีรูปแบบอื่นปรากฏ เช่น สลักเป็นภาพเล่าเรื่อง นั่นเอง
ติดกันด้านทิศเหนือ ยังมี #ปราสาทนางรำ ซึ่งเป็น โบราณสถานประเภท “อโรยคศาล” หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยนะครับ หากมีโอกาส ลองแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันดูนะครับ ทั้งนี้ “กู่พราหมณ์จำศีล” และ “ปราสาทนางรำ” เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณเป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก มาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีศาสนสถานขนาดใหญ่ อย่างกู่พราหมณ์จำศีล เป็นศาสนสถานประจำชุมชน และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จึงมีดำริให้สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
ข้อมูลโดย นายวรรณพงษ์ ปาะละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
เอกสารอ้างอิง
-กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร. 2535
-รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน. 2551.
(จำนวนผู้เข้าชม 1325 ครั้ง)