องค์ความรู้เรื่อง...ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปรางค์กู่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
องค์ความรู้เรื่อง...ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปรางค์กู่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
#ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเขมร รูปแบบศิลปะแบบบายน โดยมีหินทรายเเละศิลาเเลงเป็นวัสดุหลัก ในพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นอาโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำสถานพยาบาลอีกหลัง เช่นเดียวกับ ปราสาทโคกงิ้ว
ปรางค์กู่ มีการประดับตกแต่งอาคารสิ่งก่อสร้างด้วยการสลักลวดลายลงบนหินที่ก่อสร้าง เป็นลักษณะอันโดดเด่นทางด้านศิลปกรรม ในส่วนของทับหลัง พบหลักฐานการสลักภาพที่สวยงามและสำคัญ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่
#ทับหลังชิ้นที่1 ทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือของปราสาทประธาน สลักภาพหน้ากาลเอามือยึดขาสิงห์ที่ยืนเอียงตัวหันหน้าออก มือถือท่อนพวงมาลัยห้อยตกลงมา เหนือหน้ากาลสลัก #ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้มเรือนแก้ว ที่เสี้ยวของทับหลังมีพวงอุบะแบ่งเสี้ยว เสี้ยวเหนือพวงอุบะด้านซ้ายมือของภาพพระพุทธเจ้า #สลักภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ประทับยืนอยู่ในซุ้มท่ามกลางลายใบไม้ม้วนตั้งขึ้น ส่วนทางด้านขวามือของทับหลังภาพสลักเลือนลาง ลักษณะคล้ายสลักยังไม่แล้วเสร็จ เห็นเพียงโครงร่างของเส้นโค้ง วงกลม และกรอบของซุ้มทรงสามเหลี่ยม
#ทับหลังชิ้นที่2 ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าหลักด้านตะวันออกเข้าสู่ห้องภายในปราสาทประธาน สลักภาพใบไม้ม้วนรูปทรงสามเหลี่ยมตั้งขึ้น โดยม้วนจากด้านล่างหันปลายเข้าสู่ส่วนกลาง ข้างละ 5 ใบ ที่กึ่งกลางทับหลังเป็นภาพค่อนข้างเลือนลาง พิจารณาจากลักษณะเค้าโครงของเส้น สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพหน้ากาล เหนือหน้ากาลสลักเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้ม ลักษณะเช่นเดียวกันกับทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือของปราสาทประธาน และทับหลังเหนือกรอบประตูด้านตะวันออกห้องมุขปราสาทประธาน
.
#ทับหลังชิ้นที่3 ทับหลังเหนือกรอบประตูด้านตะวันออกห้องมุขปราสาทประธาน สลักเป็นภาพใบไม้ม้วนตั้งขึ้น 4 ใบ มีหน้ากาลที่กึ่งกลางภาพ เหนือหน้ากาลสลักเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้ม
#ทับหลังชิ้นที่4 ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าหลักด้านตะวันตกอาคารวิหารหรือบรรณาลัย สลักภาพตอนกวนเกษียรสมุทร
ภาพสลักทับหลังชิ้นที่ 1-3 มีภาพสำคัญปรากฏอยู่ที่กึ่งกลางภาพ คือ #ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้ม ซึ่งเป็นภาพปกติที่พบเห็นได้ในโบราณสถานวัฒนธรรมเขมร ประเภทปราสาทหิน ที่สร้างขึ้นเนื่องนุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และภาพที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างชัดเจนอีกภาพหนึ่ง คือ ภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ประทับยืนอยู่ในซุ้มท่ามกลางลายใบไม้ม้วนตั้งขึ้น ที่ทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือของปราสาทประธาน
สำหรับภาพสลักทับหลังชิ้นที่ 4 ถือว่ามี #ความพิเศษ ของทับหลังชิ้นนี้คือ การนำเอาเรื่องราวหรือตำนานทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มาสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในโบราณสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน #ทำให้ชวนคิดได้ว่า มีมูลเหตุใดที่เป็นเช่นนั้น ในเบื้องต้นสามารถวิเคราะห์ถึงมูลเหตุสำคัญ ได้ 2 ประการ ดังนี้
1. เดิมทีนั้น ทับหลังชิ้นนี้อาจจะติดตั้งอยู่ ณ ปราสาทหินหลังอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกับปรางค์กู่ ซึ่งมีการก่อสร้างและใช้ประโยชน์ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 และถูกสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อถึงเวลาในการก่อสร้างปรางค์กู่ ปราสาทหลังเดิมนั้นอาจจะพังทลายลงหรือไม่มีการใช้ประโยชน์ดังเดิมแล้ว หินในส่วนต่างๆ จึงถูกขนย้ายมาเพื่อใช้ในการก่อสร้างปรางค์กู่ รวมทั้งทับหลังชิ้นนี้ก็ถูกขนย้ายมาเพื่อประดับตกแต่ง ณ ตำแหน่งดังกล่าว
2. ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ช่วงเวลาก่อนการก่อสร้างปรางค์กู่และก่อนที่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานจะเผยแผ่เข้ามาในพื้นที่ชุมชนบริเวณนี้ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู น่าจะเป็นความเชื่อเดิมที่ชุมชนยึดถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่องอยู่แล้ว การที่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามา อาจจะไม่ได้เข้ามาแบบเปลี่ยนแปลงความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนทีเดียวเสียทั้งหมด ถือว่าเป็นการให้เกียรติความเชื่อหรือศาสนาเดิมที่มีอยู่ก่อน จึงให้อิสระในความคิดของช่างหรือชุมชนในการนำเอาเรื่องราวหรือตำนานทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มาสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในโบราณสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้ เปรียบเสมือนว่าต่างความเชื่อ ต่างศาสนา แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโบราณสถานของชุมชน ที่มีเป้าหมายในการสร้างขึ้นเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนในชุมชน
โบราณสถานปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ กรมศิลปากร ปัจจุบัน ประกาศขึ้นทะเบียนเเละกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานปรางค์กู่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งเเต่ ปี 2525 โดย กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้น – ขุดแต่งศึกษาโบราณสถานปรางค์กู่ ในปีปีงบประมาณ พ.ศ.2540 จากนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2541-2542 ได้ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์
ข้อมูลโดย นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 7513 ครั้ง)