องค์ความรู้เรื่อง...ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปราสาทโคกงิ้ว ตั้งอยู่ภายในวัดโคกงิ้ว บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์
องค์ความรู้เรื่อง...ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปราสาทโคกงิ้ว ตั้งอยู่ภายในวัดโคกงิ้ว บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์
#ปราสาทโคกงิ้ว เป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาล หรือ #อโรคยศาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นในดินแดนของพระองค์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 แผนผังของตัวโบราณสถานประกอบด้วยปราสาทประธานตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของวิหาร หรือบรรณาลัย ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธานเป็นสระน้ำประจำศาสนสถาน พ.ศ.2554 สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ในขณะนั้น ได้ดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผลจากการดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน พบโบราณวัตถุสำคัญหลายประเภท เช่น ทับหลังสลักภาพคชลักษมี ศิลปะคลัง – บาปวนตอนต้น, เสาประดับกรอบประตู ,ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ และภาชนะดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง
ทับหลังหินทรายสลักภาพ #คชลักษมี ชิ้นนี้ พบจากการขุดแต่งบริเวณบรรณาลัย หรือ วิหาร ลักษณะองค์พระลักษมีประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างถือดอกบัว ด้านข้างทั้งสองของพระองค์มีช้างยืนสองขาชูงวงเหนือพระเศียร ใต้ฐานพระลักษมีเป็นรูปเกียรติมุขหรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย มือของหน้ากาลยึดชายท่อนพวงมาลัยไว้ พวงอุบะเป็นลายใบไม้ม้วน เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ ขอบด้านข้างทั้งสองด้านของทับหลังมีรูปสิงห์ยืนจับปลายท่อนพวงมาลัยไว้ ลักษณะดังกล่าวเป็นศิลปะขอมแบบคลังหรือแบบบาปวน อายุสมัยประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีอายุเก่ากว่าปราสาทโคกงิ้ว จึงสันนิษฐานว่าในช่วงเวลาก่อสร้างมีการเคลื่อนย้ายทับหลังจากปราสาทหลังอื่นมาประดับตกแต่ง ณ ปราสาทโคกงิ้ว
จากรูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนสถานประจำสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724 – 1761) แต่ลักษณะทางศิลปกรรมของทับหลังชิ้นนี้แสดงในรูปแบบขอมแบบคลังหรือแบบบาปวน อายุสมัยประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ทับหลังชิ้นนี้เป็นทับหลังที่ไม่ใช่ของที่นี่โดยตรง อาจนำมาจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรอื่นที่อยู่ใกล้ หรือ อาจนำมาใช้ประดับสถาปัตยกรรมในโบราณสถานแห่งนี้
ปี 2563-2564 สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กำลังดำเนินงานบูรณะปราสาทโคกงิ้ว ประกอบด้วย บูรณะปราสาทประธาน บรรณาลัยหรือวิหาร กำแพงแก้ว ด้วยวิธีอนัสติโลซิส
ข้อมูลโดย นางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1770 ครั้ง)