...

ผีปู่ย่า
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
ผีปู่ย่า
ผี ตามความเชื่อของชาวล้านนาไทยโบราณ นอกจากจะหมายถึง วิญญาณของคนที่ล่วงลับไปแล้ว ยังรวมถึง ผีในลัทธิที่เคารพนับถืออีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้คุณและโทษแก่คนได้  โดยสามารถแบ่งผีออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ผีที่เคารพยำเกรงสืบต่อกันมาในวงศ์ตระกูล เช่น ผีปู่ย่า ผีโป่งป่าถ้ำดอยหลวง
2. ผีที่ต้องเคารพเชื่อถือตามความนิยมของชนชาวอื่นที่เข้ามาเป็นใหญ่หรือมาเป็นครูบาอาจารย์อยู่ในบ้านเมืองตั้งแต่โบราณ เช่น  ผีครู (ผียักษ์), ผีมดหรือผีเมง, ผีแมน (ผีดิบ), ผีนาค
.
โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “ผีปู่ย่า” ซึ่งจัดอยู่ในผีประเภทแรก คือ ผีที่เคารพยำเกรงสืบต่อกันมาในวงศ์ตระกูล หรือเรียกได้ว่าเป็น ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีประจำตระกูล
ผีปู่ย่า แบ่งออกมาได้เป็น 4 ชนิด คือ ผี สาง เทวดา และเปรต (เผด)
1. ผี คือ วิญญาณของผู้ที่ตอนมีชีวิตอยู่ประพฤติตนดี ได้ก่อร่างสร้างวงศ์ตระกูล ผีจะอาศัยอยู่ยังตามอาสน์ หอ หรือสถานที่ที่ลูกหลานทำไว้ให้สถิต
2. สาง คือ วิญญาณที่ตายโหง ตายห่า หรือตอนมีชีวิตอยู่ประพฤติตนเป็นคนชั่วช้า สางจะไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะผีจะรังเกียจสาง คอยขับไล่ไม่ให้เข้ามาอยู่ปะปนกับผี ต้องคอยเร่ร่อนหลอกคนให้สะดุ้งตกใจ และแย่งเอาโชคลาภของคนไป หากญาติพี่น้องจะทำบุญอุทิศผลให้ก็ต้องแอบทำ ไม่ให้ผีรู้ คือไปทำตามตรอก ซอก ซอยทางสามแพร่ง หรือข้างทางแทน
3. เทวดา คือ วิญญาณของเจ้านาย เจ้าบ้านผ่านเมือง ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่คนจำนวนมาก ที่เป็นกษัตริย์จะได้เป็น พระยาอินตา คือ พระอินทร์
4. เปรต (เผด) คือ วิญญาณของเจ้านายเจ้าบ้านที่ทำตนไม่เที่ยงตรง โดยปกติเป็นคนพาล และคนที่ทำลายศาสนสถาน ฉ้อโกง ทำของปลอม เปรตต้องอาศัยอยู่ตามวัดคอยรับผลเมตตาจิต ต้องคอยตัดหญ้าในวัดโดยการกัดหญ้าทีละเส้น และแลบลิ้นเลียขัดพื้นโบสถ์วิหารให้สะอาด เพื่อใช้หนี้เวรกรรมที่ทำไว้เมื่อตอนเป็นคน อาหารก็ไม่สามารถกินจากที่ญาติอุทิศไปให้ได้ ต้องคอยกินเศษอาหารที่พระนำไปทิ้ง หรือคอยหลอกแล้วแย่งมากินเอา
.
สางกับเปรตจะเป็นผีที่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่ทำคุณประโยชน์ให้แก่คน แต่ผีกับเทวดานั้นจะคอยช่วยเหลือ ปกปักรักษาคนให้มีความสุข ความเจริญ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นลูกหลานของผีเหล่านั้น จะได้รับประโยชน์จากผีหรือเทวดามากกว่าผู้อื่น มักจะคอยติดตามลูกหลานไปปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ ลูกหลานจึงเคารพยำเกรงและคอยเส้นไหว้บวงสรวงให้อยู่เสมอ พร้อมจัดที่ทางให้สถิตอยู่ เช่น ทำเป็นหิ้งไว้บนฝาหัวนอนเหมือนตั้งพระพุทธรูป หรือสร้างเป็นหอ เป็นห้องไว้ให้
.
การบวงสรวงผีปู่ย่านั้น มักจะทำการประมาณเดือน 7-8-9 เหนือ (ตรงกับเดือนเมษายน – มิถุนายน) ของทุกปี แล้วแต่ความพร้อมหรือความสะดวกของแต่ละตระกูล โดยมีการนำเครื่องบวงสรวง เช่น หัวหมูไก่ต้ม สำรับคาวหวาน สุรา ดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หรือแล้วแต่จะกำหนด มาสังเวย นอกจากนี้อาจจะทำเนื่องในโอกาสที่ญาติ ๆ บนบานศาลกล่าวผีปู่ย่าให้ช่วยคนในตระกูลแล้วหายเจ็บป่วยก็ได้
--------------------------------------
อ้างอิง    
- แก้วมงคล ชัยสุริยันต์. ผีของชาวล้านนาไทยโบราณ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2486. หน้า 4-19.
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. ชีวิตไทย ชุด ฮีตฮอยเฮา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2538 หน้า 185.

(จำนวนผู้เข้าชม 5931 ครั้ง)


Messenger