รอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาท
เลขทะเบียน ๓๘ / ๒๕๑๖
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
บูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗
วัสดุ (ชนิด) ไม้ลงรักปิดทองล่องชาด ประดับมุก
ขนาด กว้าง ๑๒๔ เซนติเมตร สูง ๒๐๐ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ให้ยืมจัดแสดง
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
รอยพระพุทธบาทไม้ลงรัก ทาชาด ประดับมุกและกระจก ตกแต่งบริเวณขอบด้านนอกด้วยลงรักปิดทองเป็นลายพันธุ์พฤกษา ตรงกลางทำรูปธรรมจักรประดับด้วยแก้วอังวะ (กระจกจืน) ใต้นิ้วพระบาททำเป็นรูปมงคล ๑๐๘ ประการ จัดตามตำแหน่งระบบภูมิจักรวาลตามแนวตั้ง ตั้งแต่โสฬสพรหมโลกชั้นสูงสุด ลดหลั่นด้วยพรหมโลกชั้นรองลงมา จนถึงเทวโลกที่ประกอบไปด้วยสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ ฉกามาพจร ปรนิมมิตวสวดี นิมมานรดี ยามา ดุสิต ดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิก ซึ่งแต่ละชั้นจะมีอักษรล้านนาอธิบาย ยกเว้นเมื่อกล่าวถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ หรือชั้นสูงสุด โดยใช้คำว่า “อกนิฏฐาพรหม” เขียนด้วยอักษรปาละของอินเดีย ตอนกลางเขียนภาพแกนจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยสีทันดรสมุทร เทือกเขาทั้ง ๗ และมหาทวีปทั้ง ๔ มีรูปพระเจ้าจักรพรรดิกับสิ่งของอันเป็นมงคลทั้งหลายประทับอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ โดยมีกำแพงจักรวาลล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายในรอยพระพุทธบาทนี้ประดับเต็มไปด้วยรูปเทวดา ปราสาท สัตว์ ดอกไม้ทิพย์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสะท้อนความหมายของภูมิจักรวาล หลายภาพมีคำอธิบายเขียนด้วยอักษรล้านนา ภาษาบาลีและภาษาไทยวน ที่ส้นพระบาทระบุพระนามอดีตพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระกัสสปะ พระโกนาคมนะ พระกกุสันธะ โดยรอยพระบาทของพระโคตรมะเป็นรอยพระบาทสุดท้ายแต่ไม่ได้ระบุพระนาม จุดเด่นของรอยพระพุทธบาท ได้แก่ รูปจักรรัตนะที่ประดับอยู่กึ่งกลางพระบาท
ด้านหนึ่งของรอยพระพุทธบาทมีจารึกกล่าวถึงการบูรณะรอยพระพุทธบาท ความว่า ในพุทธศักราช ๒๓๓๗ พระเจ้ากาวิละและพระราชวงศ์ ได้ร่วมกันบูรณะรอยพระพุทธบาทไม้เก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้ภายในวัดพระสิงห์ โดยเปลี่ยนแผ่นไม้กระดานที่ชำรุดแล้วลงรักปิดทองล่องชาด แต่ไม่ได้ประดับมุก ในการบูรณะครั้งนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแก้วอังวะที่ประดับภายในจักรรัตนะ เนื่องจากแก้วอังวะแต่ละแผ่น จะมีการปั้นรักนูนหนาล้อมรอบขึ้นเป็นกรอบ ส่วนด้านล่างของจารึก ยังมีร่องรอยงานลง รักปิดทอง สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในศรีลังกา
ลักษณะเครื่องทรงเทวดา ลายพันธุ์พฤกษา และลายประกอบต่าง ๆ ภายในรอยพระพุทธบาท มีความคล้ายคลึงกับที่พบในเครื่องทรงของเทวดาปูนปั้นประดับวิหาร ที่วัดโพธารามมหาวิหาร ซึ่งมีอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช รวมทั้งรูปแบบของอักษรจารึกที่ใช้อยู่ในราวพุทธศักราช ๒๐๐๐ – ๒๑๕๐ ดังนั้นรอยพระพุทธบาทนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗
ที่มา:
ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๒๖๑.
ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๔๕ – ๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1893 ครั้ง)