ตุงและคันตุง ๘๙/๒๕๔๑
ตุงและคันตุง
เลขทะเบียน ๘๙ / ๒๕๔๑
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่
วัสดุ (ชนิด) โลหะ
ขนาด สูงพร้อมฐาน ๓๕.๕ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
ตุง เป็นเครื่องแขวนอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในพิธีกรรม คล้ายธง โดยตุงถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ตามแต่โอกาสที่ใช้และฐานะของผู้สร้าง หากเป็นตุงที่สร้างจากวัสดุที่ไม่กวัดไกวตามกระแสลม จะเรียกตุงชนิดนั้นว่า ตุงกระด้าง ซึ่งสร้างด้วยโลหะ ไม้ หรือปูน เป็นต้น
หลักฐานการใช้ตุงเป็นเครื่องพุทธบูชาปรากฏในเอกสารล้านนาโบราณหลายฉบับ เช่น ตำนานเมืองเชียงแสน กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุเหนือยอดดอยลูกหนึ่ง แล้วพระมหากัสสปเถระเจ้าก็ได้อธิษฐานตุงขึ้นตั้ง คันตุงนั้นสูงแปดพันวา ตุงยาวเจ็ดพันวา กว้างสี่ร้อยวา หลังจากเหตุการณ์นี้ คนทั้งหลายจึงเรียกดอยแห่งนั้นว่าดอยตุง โดยหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการใช้ตุงปรากฏในศิลาจารึกวัดพระยืน ระบุว่าเมื่อราว พ.ศ.๑๙๑๓ เมื่อพญากือนาตั้งขบวนต้อนรับพระสุมนเถระจากสุโขทัย ในขบวนนั้นมีการประดับด้วยธง (ตุง) เหตุที่ชาวล้านนานิยมถวายตุงไว้ในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเชื่อว่าการถวายทานตุงนั้นได้อานิสงค์มาก เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วจะไม่ตกนรก
สำหรับตุงเครื่องพุทธบูชารายการนี้ มีลักษณะเป็นเสาตุงที่ตั้งอยู่เหนือหม้อน้ำ หม้อน้ำนั้นอาจหมายถึงหม้อบูรณฆฏะ (หม้อดอก) ตามคติความเชื่อดั้งเดิมของอินเดียที่เข้ามานิยมแพร่หลายอยู่ในล้านนา ในฐานะสัญลักษณ์มงคลที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญเติบโต ส่วนคันตุงด้านบนแยกออกเป็นสามแฉก แขวนตุงสามชิ้น ตุงมีสัณฐานยาวรี ชิ้นหนึ่งสลักลายเส้นรูปปราสาทที่ตั้งอยู่เหนือฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกันเจ็ดชั้น ระหว่างชั้นฐานกลีบบัวคั่นด้วยลายริ้วขนานกันในแนวนอนเหมือนระลอกคลื่น อาจเป็นสัญลักษณ์หมายถึงภูมิจักรวาลตามคติความเชื่อในล้านนา ดังนั้น ตุงและคันตุงนี้ จึงให้ความหมายของความอุดมสมบูรณ์ของจักรวาล หรือการกำเนิดขึ้นของจักรวาล ก็เป็นได้
ที่มา
ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร, บรรณาธิการ, ตำนานเมืองเชียงแสน (เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 314 ครั้ง)