พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากหินทราย
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างพะเยา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
วัสดุ (ชนิด) หินทราย
ขนาด หน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๔๑ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา โครงการโบราณคดีภาคเหนือ พบที่วัดพระเกิดคงคาราม เวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากหินทราย พบในพื้นที่เมืองพะเยาและในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิง จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมพบว่า สกุลช่างพะเยาทำพระพุทธรูปที่มีเม็ดพระศกมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมมีส่วนยอดเรียวแหลม เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดของวัสดุหินทราย ที่ไม่สามารถสลักให้ขมวดเป็นวงก้นหอยได้ ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างเสี้ยม ส่วนประกอบของพระพักตร์ ได้แก่ พระขนง พระนาสิก เชื่อมต่อกันเป็นสันนูน เป็นลักษณะพระพักตร์ที่พบอยู่ในบางสกุลช่างของเมืองพะเยา ไม่ค่อยนิยมทำไรพระศก มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างตวัดขึ้นสูง พระวรกายโปร่งเพรียว มักประทับขัดสมาธิราบ ทำปางมารวิชัย
(จำนวนผู้เข้าชม 441 ครั้ง)