พระพุทธรูปปางมารวิชัยพระพักตร์สี่เหลี่ยมสั้น
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔
วัสดุ (ชนิด) สำริด
ขนาด หน้าตักกว้าง ๒๖.๓ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๖๖ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดศรีโขง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระพุทธรูปมีพระพักตร์สี่เหลี่ยมสั้นมีไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็กแหลมแบบหนามขนุน พระอุษณีษะนูนขึ้นมามากรองรับชั้นกลีบบัวหงายรองรับพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระขนงโก่ง พระกรรณด้านบนแหลม ในขอบพระกรรณตกแต่งลวดลายคล้ายลายก้นหอย พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่โด่งเป็นสัน มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างยกขึ้น พระวรกายทึบตัน ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฎิยาวส่วนปลายตัดตรง บริเวณบั้นพระองค์ทำเป็นแนวขอบสบงอย่างชัดเจน พระถันทำเป็นต่อมแหลม พระหัตถ์ขวาวางบนพระชงฆ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวไล่เลี่ยกัน
พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยโดยประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐาน ๓ ชั้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสูง ๖ เหลี่ยม ในตอนกลางเป็นฐานปัทม์เรียบเกลี้ยง ฐานตอนบนเป็นฐานปัทม์ ชั้นบนเป็นบัวหงายทำกลีบบัวรวน ส่วนบัวคว่ำปลายกลีบสะบัดงอนขึ้น เช่นเดียวกับลูกแก้วอกไก่ที่ทำปลายงอนขึ้นข้างบน เป็นแบบศิลปกรรมที่นิยมอยู่ในศิลปะล้านช้าง สกุลช่างเวียงจันทน์เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จึงเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปนี้ถูกสร้างขึ้นในศิลปะล้านช้าง สกุลช่างเวียงจันทน์ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔
(จำนวนผู้เข้าชม 442 ครั้ง)