พระพุทธรูปปางมารวิชัย รูปแบบศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะล้านนา
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
วัสดุ (ชนิด) สำริด
ขนาด หน้าตักกว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๖๖.๕ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดศรีโขง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย รูปแบบศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะล้านนา เช่น พระวรกายเพรียวบาง ครองสังฆาฏิที่ทำเป็นแผ่นขนาดใหญ่ พระรัศมีเป็นเปลว และชายจีวรที่คาดอยู่ใต้พระชานุ เป็นต้น รูปแบบศิลปกรรมพระพุทธรูปนี้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อ พระเมืองแก้วโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๗ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ ส่วนฐานขององค์พระพุทธรูปเป็นฐานปัทม์ เกสรบัวมีต่อมกลม และส่วนปลายกลีบบัวงอนออก สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปนี้ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ภายหลังมีการสลักตัวอักษรเพิ่มเติมที่ฐานด้านหน้า ความว่า “พระครูคำภิระ ให้นายจีนแม่ชื่นไว้เป็นที่รฤก เชียงใหม่”
(จำนวนผู้เข้าชม 244 ครั้ง)