พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนา
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนา
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2469 พระราชทาน แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2469 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งมาจัดแสดง
ลักษณะ : พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ทรงสวมมงกุฎ กุณฑล สังวาลไขว้ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ และสวมผ้านุ่งลายตาราง อยู่บนฐานบัวหงาย รองรับด้วยฐานหน้ากระดาน 6 เหลี่ยม มีขาสามขา
-----------------------------------------------------------
พระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนา เป็นที่นิยมสร้างในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีคติการสร้างมาจากพุทธประวัติตอนทรมานพญามหาชมพู ซึ่งได้พบหลักฐานว่าเป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นในแถบล้านนาและล้านช้าง โดยได้พบรูปบุคคลสำริดนั่งพนมมือแต่งเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ชิ้นหนึ่งในศิลปะล้านช้างที่มีจารึกชื่อ “ชมภูปติ”
.
เรื่องราวเป็นตอนที่พญามหาชมพูซึ่งถือว่าตนเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดเหนือตน ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพญามหาชมพูได้ จึงเนรมิตแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า แล้วให้พระอินทร์แปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูมาเข้าเฝ้า และทรงแสดงธรรมโปรดจนพญามหาชมพูหมดทิฐิมานะและขอบรรพชาอุปสมบท
.
ลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็น แบบที่มีการครองจีวรและมีเครื่องทรงมาสวมทับไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แบบที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยทั้งสองแบบน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกันหรือห่างกันไม่มากเนื่องจากลักษณะรูปแบบโดยรวมใกล้เคียงกัน
.
พระพุทธรูปทรงเครื่องที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ องค์นี้ เป็นแบบกลุ่มที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยปกติในกลุ่มนี้มักนิยมประทับนั่งขัดสมาธิราบ แต่องค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะปาละ มีเครื่องทรงที่แสดงอิทธิพลศิลปะลังกา คือ มีการสวมกรัณฑมกุฎ คือ มงกุฎทรงกรวยแหลม โดยประกอบขึ้นจากวงแหวนหรือลูกกลมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงยอดแหลม การสวมเครื่องทรงแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับเทวดาปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอด
.
นอกจากนี้ส่วนฐานบริเวณบัวคว่ำทำเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบศิลปะจีน และมีลายประจำยามก้ามปูและเม็ดไข่ปลา ส่วนขาสามขาที่มาจากสายท่อชนวนที่ไม่ได้ตัดทิ้งก็เป็นแบบที่นิยมพบในพระพุทธรูปช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
-----------------------------------------------------------
อ้างอิง
- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 118.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 247-251
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 553-555.
- เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์ : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. หน้า 88.
ที่มารูปภาพ
รูปบุคคลมีจารึกชื่อ ชมภูปติ
- A. B. Griswold. “Notes on the Art of Siam, no. 5. The Conversion of Jambupati”.Artibus Asiae Vol. 24, No. 3/4 (1961), pp. 297.
พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนา
รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2469 พระราชทาน แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2469 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งมาจัดแสดง
ลักษณะ : พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ทรงสวมมงกุฎ กุณฑล สังวาลไขว้ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ และสวมผ้านุ่งลายตาราง อยู่บนฐานบัวหงาย รองรับด้วยฐานหน้ากระดาน 6 เหลี่ยม มีขาสามขา
-----------------------------------------------------------
พระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนา เป็นที่นิยมสร้างในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีคติการสร้างมาจากพุทธประวัติตอนทรมานพญามหาชมพู ซึ่งได้พบหลักฐานว่าเป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นในแถบล้านนาและล้านช้าง โดยได้พบรูปบุคคลสำริดนั่งพนมมือแต่งเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ชิ้นหนึ่งในศิลปะล้านช้างที่มีจารึกชื่อ “ชมภูปติ”
.
เรื่องราวเป็นตอนที่พญามหาชมพูซึ่งถือว่าตนเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดเหนือตน ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพญามหาชมพูได้ จึงเนรมิตแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า แล้วให้พระอินทร์แปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูมาเข้าเฝ้า และทรงแสดงธรรมโปรดจนพญามหาชมพูหมดทิฐิมานะและขอบรรพชาอุปสมบท
.
ลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็น แบบที่มีการครองจีวรและมีเครื่องทรงมาสวมทับไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แบบที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยทั้งสองแบบน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกันหรือห่างกันไม่มากเนื่องจากลักษณะรูปแบบโดยรวมใกล้เคียงกัน
.
พระพุทธรูปทรงเครื่องที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ องค์นี้ เป็นแบบกลุ่มที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยปกติในกลุ่มนี้มักนิยมประทับนั่งขัดสมาธิราบ แต่องค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะปาละ มีเครื่องทรงที่แสดงอิทธิพลศิลปะลังกา คือ มีการสวมกรัณฑมกุฎ คือ มงกุฎทรงกรวยแหลม โดยประกอบขึ้นจากวงแหวนหรือลูกกลมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงยอดแหลม การสวมเครื่องทรงแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับเทวดาปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอด
.
นอกจากนี้ส่วนฐานบริเวณบัวคว่ำทำเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบศิลปะจีน และมีลายประจำยามก้ามปูและเม็ดไข่ปลา ส่วนขาสามขาที่มาจากสายท่อชนวนที่ไม่ได้ตัดทิ้งก็เป็นแบบที่นิยมพบในพระพุทธรูปช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
-----------------------------------------------------------
อ้างอิง
- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 118.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 247-251
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 553-555.
- เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์ : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. หน้า 88.
ที่มารูปภาพ
รูปบุคคลมีจารึกชื่อ ชมภูปติ
- A. B. Griswold. “Notes on the Art of Siam, no. 5. The Conversion of Jambupati”.Artibus Asiae Vol. 24, No. 3/4 (1961), pp. 297.
(จำนวนผู้เข้าชม 4937 ครั้ง)