ผ้าไหมมัดหมี่
ผ้าไหมมัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งนิยมทำมานานแล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และบางท้องที่ในเขตภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี และชัยนาท วิธีการทำผ้ามัดหมี่คือการมัดด้ายให้เป็นลายที่เส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือกแล้วนำไปย้อมสี เพื่อให้สีและลายตามที่กำหนด แล้วจึงนำมาทอเป็นผ้า ผ้าไหมมัดหมี่ในบ้านเราส่วนใหญ่นิยมทอผ้ามัดหมี่เส้นพุ่ง แต่มีบางจังหวัดที่มีการทำผ้ามัดหมี่โดยใช้เส้นยืน ซึ่งได้แก่จังหวัด เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้าชาวเขาซึ่งเป็นผ้าซิ่นมัดหมี่ ราชบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ บางแห่งมีการทอผ้ามัดหมี่สลับกันกับลายขิต เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ผ้าไหมมากยิ่งขึ้น ส่วนผ้ามัดหมี่จากสุรินทร์ มีชื่อเสียงทั้งในด้านความสวยงามของเส้นไหมและลวดลายซึ่งได้รับอิทธิพลจากเขมร
มัดหมี่ (Ikat) เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายที่จะนำไปใช้ในการทอผืนผ้าโดยมัดเส้นด้ายให้เป็นเปลาะ ๆ ตามลวดลายที่กำหนดไว้ให้แน่นด้วยวัสดุต่าง ๆ ตามแต่ละท้องถิ่นนิยมใช้ เช่น เชือกกล้วย เส้นด้ายฝ้าย ใบว่านสากเหล็กหรือต่อเหล่าอี้ หรือเส้นเชือกพลาสติกเพื่อปิดกั้นไม่ให้เส้นด้ายที่มัดไว้สัมผัสกับสีย้อม แล้วนำเส้นด้ายที่มัดแล้วไปย้อมสี แล้วแกะวัสดุที่มัดนั้นออก หากต้องการให้เกิดลวดลายที่มีหลายสี ต้องมัดและย้อมสีทับกันหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลาย สีสันตามต้องการ ผ่านกระบวนการเตรียมเส้นเพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้า เมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าสำเร็จแล้วจะเกิดเป็นลวดลายและสีสันที่ต้องการ มัดหมี่ เป็นชื่อเรียกที่รู้จักกัน โดยทั่วไป ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานซึ่งมีการทอผ้ามัดหมี่มากที่สุด ในภาคเหนือนิยมเรียกว่า มัดก่าน ในต่างประเทศนิยมใช้คำว่า ikatซึ่งเป็นคำศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย-มลายูโดยกรรมวิธีการมัดหมี่แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
มัดหมี่เส้นยืน (warp ikat) คือมัดหมี่ที่มัดเส้นด้ายเฉพาะที่ใช้เป็นเส้นยืน ส่วนเส้นพุ่งจะย้อมให้เป็นสีพื้นเพียงสีเดียว โดยไม่มีการมัดลวดลายใด ๆ เลย ลวดลายของมัดหมี่ชนิดนี้จะปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อนำเส้นยืนมาขึงโยงยึดเข้ากับกี่เรียบร้อยพร้อมที่จะทอแล้ว แม้ว่าจะยังไม่นำเส้นพุ่งมาสอดทอเลยก็ตาม
มัดหมี่เส้นพุ่ง (weft ikat) คือ มัดหมี่ที่มัดย้อมเส้นด้ายเฉพาะที่ใช้เป็นเส้นพุ่งลวดลายที่เกิดจากการมัดย้อมจะปรากฎให้เห็นได้ก็ต่อเมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าสำเร็จแล้วเท่านั้น
มัดหมี่สองทาง (double ikat) คือ มัดหมี่ที่ต้องมัดย้อมเส้นด้ายทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง ด้วยความประณีตและซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะต้องมีการคำนวณด้วยมาตราส่วนของช่างทอเอง เพื่อให้การมัดย้อมเส้นยืนและเส้นพุ่งมีลวดลายตรงกันเมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้า และในขณะที่ทอนั้นเองก็ต้องมีความระมัดระวังมากต้องคอยขยับเส้นพุ่งที่ทอให้ตรงกับลวดลายที่มัดย้อมไว้ก่อนแล้วบนเส้นยืน จึงทำให้มัดหมี่ประเภทนี้มีราคาสูงมาก
การทอผ้ามัดหมี่โดยทั่วไป 2 ลักษณะ คือ
1.การทอผ้ามัดหมี่ 2 ตะกรอ เป็นลายขัดธรรมดา ผ้าจะใช้ได้เพียงหน้าเดียว
2. การทอผ้ามัดหมี่ 3 ตะกรอ เป็นการทอผ้าลายสอง เนื้อผ้าจะแน่น สามารถใช้ผ้าได้ทั้ง 2 ด้าน โดยด้านหน้าจะให้สีสดใส และลวดลายชัดกว่าด้านใน
ผ้ามัดหมี่มีการทำกันอย่างแพร่หลาย สามารถทำได้ดีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมจะมีความสวยงามมาก นอกจากตัวผ้าไหมเองแล้ว ลวดลายและสีสันยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสวยงามให้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีการทอผ้ามัดหมี่หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งมีการดัดแปลงลายพื้นบ้านผสมกับลายโบราณที่ถ่ายทอดสืบต่อมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังได้มีการนำผ้าไหมมัดหมี่มาออกแบบเสื้อผ้าสตรี-บุรุษได้อย่างสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นมากผ้าไหมมัดหมี่มีการผลิตกันมาก และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ลายต่างๆ ทั้ง 2 ตะกรอ และ 3 ตะกรอ ผ้าไหมมัดหมี่หน้านางธรรมดา ผ้ามัดหมี่หน้านางประยุกต์ ผ้ามัดหมี่หน้านางพิเศษ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความยากง่ายในการมัด และทอต่างกัน ความสวยงามก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความปราณีตละเอียดของขบวนการมัดหมี่และทอผ้าสำหรับลวดลายต่างๆ ที่ผู้ทอผ้ามัดหมี่ได้มีการออกแบบลวดลายนั้น ก็จะนำมาจากลวดลายเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ ผสมกับแนวความคิดในการผสมลวดลายต่างๆ กัน เช่น ลายเครื่องตำลึง ลายพญานาคคู่ ลายลูกศร ลายมัดหมี่ผ้าปูมเขมร ลายขอพระเทพ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
ประวัติผ้าไหมมัดหมี่.[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2565, จาก:https://www.ketysmile.com/2020/11/13/ประวัติผ้าไหมมัดหมี่. 2563.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. งานช่างฝีมือดั้งเดิม : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2560.
เผ่าทอง ทองเจือ และกิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์. มัดหมี่ สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย.พระนครศรีอยุธยา: ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน), 2559.
เรียบเรียงโดย : นางสุพัชรี ฉันทเลิศวิทยา บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
(จำนวนผู้เข้าชม 39914 ครั้ง)