...

พระอาทิตย์ดับที่หว้ากอ ๑๘ สิงหา ๑๔๗ ปีก่อน มาเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

เมื่อเดือนสิงหาคม ๑๔๗ ปีมาแล้ว ประเทศไทยได้เป็นจุดสนใจของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศล่วงหน้ามา ๒ ปีแล้วว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ โดยเส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะอยู่ระหว่างแลตติจูด ๑๑ องศา ๓๘ ลิปดาเหนือ กับลองติจูด ๙๙ องศา ๓๙ ลิปดาตะวันออก บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุด จะอยู่ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ จากเกาะจานขึ้นมาถึงปราณบุรี และลงไปถึงชุมพร ทั้งยังทรงระบุเวลาที่เงาของดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ เวลาที่จับเต็มดวง จนเวลาที่คลายออกทั้งหมด ทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติและทูตานุทูตมาร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการท้าพิสูจน์ หากไม่เป็นไปตามที่ทรงคำนวณ ก็จะเป็นการเสียพระเกียรติอย่างยิ่ง นับว่าทรงมีความเชื่อมั่นและกล้าหาญอย่างมาก


แต่เดิม ชาวตะวันออกมักเชื่อกันว่า สุริยุปราคาเกิดจากยักษ์กำลังอมพระอาทิตย์และจะกลืนลงไป จึงพยายามทำเสียงดัง เช่นตีกลองหรือจุดประทัดเพื่อให้ยักษ์ตกใจหนีไป การคำนวณล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยปราคาของพระมหากษัตริย์ไทยเช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าสยามได้พลิกโฉมหน้าไปจากอดีต และก้าวเข้าสู่โลกวิทยาศาสตร์ได้อย่างล้ำหน้า ที่สำคัญ การต้อนรับแขกเมืองที่ค่ายหลวงหว้ากอครั้งนี้ ยังทำให้แขกเมืองประหลาดใจไปตามกัน ที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของราชสำนักสยาม

ชาวต่างชาติที่ตอบรับเชิญในครั้งนี้ มีแต่ชาติที่สนใจย่านตะวันออกในยุคนั้น นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ รักษาการณ์กงสุลอังกฤษประจำสยาม นำเรือรบ ๓ ลำไปถึงในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ร.๔. ทรงยิงสลุตต้อนรับด้วยพระองค์เอง ๗ นัด ทำให้นายอาลาบาสเตอร์ปลื้มเป็นล้นพ้น บันทึกไว้ว่า

“พระมหากรุณาธิคุณและความโอบอ้อมอารีที่คณะของเราได้รับพระราชทานครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นที่ใดมาก่อนเลย และคงจะไม่มีวันได้พบเห็นอีกแล้ว”

นอกจากนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดี ยังเชิญให้นายอาลาบาสเตอร์และครอบครัว เข้าพักร่วมกับครอบครัวของท่าน

คงด้วยเหตุเหล่านี้กระมัง เมื่อนายอาลาบาสเตอร์พ้นจากราชการสถานทูตอังกฤษแล้ว จึงเข้ารับราชการไทย ยึดประเทศไทยเป็นเรือนตาย จนเป็นต้นตระกูล “เศวตศิลา”

นอกจากกงสุลแล้ว เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ของอังกฤษ ยังพาครอบครัวมาทางเรือ ถือโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ทำความคุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสยาม

ส่วนฝรั่งเศส นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจที่จะได้เห็นสุริยุปราคานานที่สุดในรอบ ๓๐๐ ปี แต่จะตั้งค่ายในเวียดนาม ต่อมาย้ายไปมะละกา เสียค่าเตรียมงานไปมาก ในที่สุดก็เห็นว่าไม่มีที่ใดเหมาะสม จึงกราบทูลขอเข้ามาร่วมด้วย ทรงสร้างค่ายให้ฝรั่งเศสใต้ค่ายหลวงลงไป ๑๘ เส้น นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสมากันเป็นขบวนใหญ่ มีกล้องมาถึง ๕๐ กล้อง นอกจากนี้ยังขนอิฐขนปูนมาสร้างที่ตั้งกล้อง ซึ่งสิ่งก่อสร้างของฝรั่งเศสนี้มีค่าอย่างมากในการหาสถานที่สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าในปัจจุบัน เพราะค่ายหลวงที่สร้างด้วยไม้ไผ่มุงด้วยใบจากใบตาล ไม่เหลือซากทิ้งหลักฐานไว้เลย

นอกจากนี้ยังมีคณะธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส จากสวนพฤกษศาสตร์เมืองไซ่ง่อน เดินทางบกมาสมทบ เพื่อสังเกตว่าขณะมีสุริยุปราคาเต็มดวง พืชและสัตว์จะแสดงอาการหรือมีพฤติกรรมผิดไปจากปกติอย่างไร แล้วถือโอกาสเก็บพันธุ์ไม้แปลกๆไปเป็นร้อยๆชนิด

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิง ๓ พระองค์ ซึ่งมีพระชันษาราว ๑๖ พรรษาทุกพระองค์ และเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (ร.๕) พระชนมายุ ๑๕ พรรษา เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชไปทอดสมอที่หน้าหาดหว้ากอในเที่ยงวันที่ ๘ สิงหาคม โปรดฯให้คณะสำรวจฝรั่งเศส ๒๐ คน คณะนายอาลาบาสเตอร์ และคณะเซอร์แฮรี ออดพร้อมครอบครัว เข้าเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานทองคำบางสะพานให้ทุกคนเป็นที่ระลึก

การต้อนรับครั้งนี้ บรรดาแขกเมืองทั้งหลาย ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้พบกับความอุดมสมบูรณ์โก้หรูเช่นนี้กลางป่าของราชอาณาจักรสยาม ใช้พ่อครัวเป็นชาวฝรั่งเศส และหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟเป็นอิตาเลียน มีทั้งวิสกี้และน้ำองุ่น พร้อมน้ำแข็งซึ่งสมัยนั้นยังต้องสั่งมาจากสิงคโปร์ อีกทั้งธรรมเนียมต้อนรับก็พลิกโฉมหน้าราชสำนักสยามไปมาก ฝ่ายจดหมายเหตุของสิงคโปร์บันทึกไว้ว่า

“...ราชสำนักได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างหมดจด เช่นการรับแขกเมืองครั้งนี้ แต่ก่อนมิได้เคยปรากฏ เป็นต้นว่าเปิดพระราชมณเฑียรที่ประทับส่วนพระองค์พระราชทานโอกาสให้แขกเมืองเข้าไปได้ และโปรดให้ฝ่ายในออกมารับแขกเมืองโดยเปิดเผย ส่วนเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงยอมให้สมาคมกับชาวอังกฤษได้อย่างฉันท์มิตรสนิทสนม ซึ่งเรื่องราวของคณะทูตและจดหมายเหตุของผู้ที่มาเยือนกรุงสยามแต่ก่อน มีแต่บันทึกข้อห้ามตามธรรมเนียมของชาวสยามมากมาย นายครอฟอร์ดก็ดี เซอร์เจมส์ บรูค และเซอร์ยอน บาวริงก็ดี ได้กล่าวความเหล่านี้ไว้ ท่านเหล่านั้นได้เล่าเรื่องราวอย่างยืดยาวว่า ข้อห้ามต่างๆเช่นนั้นมีอยู่ทั่วไป จนทำความขัดข้องแก่คณะของท่านมาก แม้แต่เรื่องเหน็บกระบี่เข้าเฝ้าก็ถูกห้าม แต่ในคราวนี้ไม่มีการทำให้แขกเมืองรู้สึกอย่างนั้นเลย พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางของพระองค์กลับสมาคมกับแขกเมืองอย่างให้อิสระเป็นผู้เสมอกัน และดูเหมือนจะมุ่งให้คล้อยตามธรรมเนียมของแขกที่มา การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชาติที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงดังนี้”

ในที่สุดก็ถึงวันสำคัญ ในเช้าวันที่ ๑๘ สิงหาคม ตอนเช้ามืดท้องฟ้าโปร่งใส มีเพียงเมฆบางๆ ราว ๐๗.๐๐ น.ยังเห็นดวงจันทร์มีแสงเทาอ่อนๆอยู่เรี่ยขอบฟ้า พอ ๐๙.๐๐ น.อากาศเริ่มแปรปรวน เมฆดำขนาดใหญ่เข้ามาปกคลุมท้องฟ้าจนมืดมิด มีฝนตกในหมู่บ้าน ทุกคนที่เฝ้ารอต่างรู้สึกหมดหวังที่จะได้เห็นสุริยุปราคา แต่แล้วอากาศก็เปลี่ยนแปลงอีก หมู่เมฆเคลื่อนคล้อยไปอย่างรวดเร็ว ฟ้ารอบดวงอาทิตย์ใสสว่างขึ้น ทุกคนต่างยืนจังงังเมื่อเห็นดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ จนหมดดวงในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๒ วินาที มีเพียงรังสีแลบออกมาจากขอบโดยรอบ

ขณะนั้นบริเวณหว้ากอมืดลงเหมือนเวลาค่ำ ต้นไม้เป็นเงาดำ ดวงดาวปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า นกกาบินกลับรัง ไก่ขันกันระเบ็งเซ็งแซ่ เครื่องวัดอากาศบอกอุณหภูมิลดลง ๖ องศาจนรู้สึกถึงความเย็น ทุกคนในที่นั้นต่างกู่ร้องกันเอิกเกริก ในหมู่บ้านมีการตีกลองจุดประทัด ส่วนพวกฝรั่งเศสที่ขึ้นไปเฝ้าดูธรรมชาติบนเขาหลวงรายงานต่อมาว่า พอดวงจันทร์บังล้ำเข้าไปในดวงอาทิตย์ได้ ๑ ใน ๕ ฝูงลิงก็วิ่งกันอึงคะนึง และรวมกลุ่มกันเป็นฝูงเล็กๆหลายฝูง นกเหงือกที่ไม่เคยส่งเสียงเลยต่างส่งเสียงกันระงมเพราะความกลัว ไม้ที่หุบใบในเวลากลางคืนเช่นไมยราบก็พากันหุบใบ

สุริยุปราคาจับหมดดวงนาน ๖ นาที ๔๕ วินาทีก็เริ่มคลาย มีแสงสว่างพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์ จนคลายทั้งดวงในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๗ นาที ๔๕ วินาที เกินที่ทรงคำนวณไป ๑ นาที

เซอร์แฮรี ออดได้บันทึกไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างที่สุด ถูกต้องกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

แต่พระเกียรติคุณอันกึกก้องของพระองค์ในครั้งนี้ ก็ทรงแลกมาด้วยพระชนม์ชีพ ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงประชวรด้วยเชื้อไข้ป่าที่ได้รับจากหว้ากอ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯก็ยังไม่ทุเลา ทรงต่อสู้กับโรคร้ายตามความเชื่อของพระองค์ จนถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันประสูติ จึงเสด็จสวรรคตในวันประสูติตามแบบพระพุทธเจ้า

ในปี ๒๕๒๕ รัฐบาลตระหนักที่จะให้อนุชนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จึงประกาศให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์สยาม ใน “อุทยานราชภักดิ์” เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณพระมหากษัตริย์ ๗ พระองค์นั้น มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ยังไม่ได้รับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” เหมือนกับอีก ๖ พระองค์ แต่ก็ทรงได้รับการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณในอุทยานแห่งนี้ด้วย

(จำนวนผู้เข้าชม 3527 ครั้ง)


Messenger