...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
กระปุก

กระปุก เลขทะเบียน ๗๘ / ๒๕๔๑ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะจีน และล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ วัสดุ (ชนิด) เครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสี พร้อมฝาโลหะ ขนาด กว้าง ๑๕ เซนติเมตร สูงพร้อมฝา ๑๒ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา ได้จากการวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องกระเบื้องลายคราม ทำเป็นไหสีขาวทรงกลม สีขาวขุ่นเป็นสีพื้น เขียนลายครามพันธุ์พฤกษาเกี่ยวพันกัน มีช่อดอกโบตั๋น มีความหมายถึงความร่ำรวยและเกียรติยศ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องกระเบื้องที่สร้างขึ้นในแหล่งเตาเจิ้งเต๋อเจิ้น มณฑลเกียงซี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในปัจจุบัน โดยผลิตขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ทัพพีไม้เขียนสี

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ทัพพีไม้เขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ววัสดุ ไม้ ประวัติ พบที่แหล่งโบราณคดีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ลักษณะ รูปทรงคล้ายช้อนแต่มีขนาดใหญ่กว่า ตกแต่งลายเขียนสีแดง บริเวณด้ามจับเขียนลายทาง และบริเวณที่ตักสิ่งของเขียนลายเส้นคดโค้ง --------------------------------------------------คำว่า ประตูผา มาจากลักษณะภูมิประเทศในบริเวณนี้ที่เป็นแนวเขาลูกโดดสองลูกต่อกัน ระหว่างกลางมีช่องแคบเล็ก ๆ ทำให้ดูเหมือนกำแพงสูงที่มีช่องประตูตรงกลาง จึงเป็นที่มาของชื่อประตูผา.แหล่งโบราณคดีประตูผา ได้พบหลักฐานการทำกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเขตพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนในบริเวณนี้ โดยพบภาพเขียนสีซึ่งยาวที่สุดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และร่องรอยการประกอบพิธีกรรมการฝังศพบริเวณพื้นดินใต้ภายเขียนสี.แม้ที่แหล่งนี้จะมีการถูกขุดรบกวนจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ แต่ก็ยังคงพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่สภาพสมบูรณ์และน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ ทัพพีไม้เขียนสี พบจำนวน 2 อัน ในหลุมขุดค้นที่ 2 ชิ้นหนึ่งมีสภาพเกือบสมบูรณ์ แตกหักบริเวณที่ตักของ อีกชิ้นเหลือเพียงส่วนที่ตักของ .ทัพพีไม้เขียนสีทำด้วยไม้ชิ้นเดียวที่มีการถากและขูดเอาเนื้อไม้ออกจนได้รูปร่างที่ต้องการ สันนิษฐานว่าคงทำขึ้นเพื่อเป็นของอุทิศให้แก่ผู้ตาย เนื่องจากมีการเขียนลายสีแดงตกแต่งทั้งชิ้นเพิ่มความสวยงาม สะท้อนให้เห็นถึงงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของคนในอดีต ที่ไม่เพียงรู้จักการผสมสีจากหินสีหรือดินเทศเพื่อใช้เขียนภาพบนผนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาเขียนภาพลงบนสิ่งของเครื่องใช้ด้วย และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันเป็นผู้วาดก็เป็นได้. ปัจจุบันทัพพีไม้เขียนสีนี้จัดแสดงอยู่ในตู้แหล่งโบราณคดีประตูผา ห้องยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่--------------------------------------------------อ้างอิง- ชินณวุฒิ วิลยาลัย. (2542). การศึกษาแหล่งภาพเขียนสีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 206, 299.- กรมศิลปากร. (2544). เปิดประตูผา ค้นหาแหล่งวัฒนธรรม 3,000 ปี ที่ลำปาง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. หน้า 8, 29-37.- อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ.(2549) รูปเขียนดึกดำบรรพ์ “สุวรรณภูมิ” 3,000 ปีมาแล้ว ต้นแบบงานช่างเขียนปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 43.- ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2564). ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. ภาพเขียนสีค่ายประตูผา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/103.ที่มารูปภาพภาพลายเส้นทัพพีไม้- กรมศิลปากร. เปิดประตูผา ค้นหาแหล่งวัฒนธรรม 3,000 ปี ที่ลำปาง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544.ภาพลักษณะช่องเขาที่มาชื่อประตูผา- สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นศึกษาและคัดลอกภาพเขียนสี แหล่งโบราณคดีประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง.

พระเจ้าแข้งคม

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พระเจ้าแข้งคม วัดศรีเกิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่รูปแบบ : ศิลปะล้านนา (อิทธิพลศิลปะอยุธยา) พุทธศตวรรษที่ 21วัสดุ : สำริด ลงรักปิดทองประวัติ : ตามชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชทรงมอบให้สีหโคดเสนาบดีและอาณกิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ หล่อพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ ให้มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลวปุระ โดยหล่อขึ้นที่วัดป่าตาลมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ส่วนในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชทรงหล่อพระพุทธรูปทองสำริดและขนานพระนามว่า พระป่าตาลน้อย ประดิษฐานไว้ ณ ตาลวันมหาวิหาร อยู่ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ของเมืองต่อมาในสมัยเจ้ากาวิละได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดศรีเกิด ในเมืองเชียงใหม่ สถานที่ : ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารวัดศรีเกิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเปิดกว้าง พระโอษฐ์แบะกว้าง มีขอบไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายเป็นริ้วพับซ้อนกัน พระชงฆ์เป็นสัน ----------------------------------------------------------คำว่า พระเจ้าแข้งคม เรียกชื่อตามลักษณะของพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ที่ทำเป็นสันเส้นตรงขึ้นมา ในจารึกวัดศรีเกิดมีปรากฏกล่าวเรียกพระแข้งคมนี้อยู่เช่นกัน ความว่า “...ทั้งศิษย์โยมเจ้าชู่ตน มาเล็งหัน ยังพระพุทธโบราณพิมพ์รูปเจ้าตนชื่อแข้งคมตั้ง อยู่วัดป่าตาลน้อยนอกแอ่งกระเรืองเถ้า รอน้อยนรหนานเถ้าเช่น พระติโลกราชเจ้าหนักทอง ๓๓๐๐๐๐๐ จึ่งชักเชิญเอาศรัทธาหน...”.พระเจ้าแข้งคมที่วัดศรีเกิดนี้ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาในกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 (ในสมัยอยุธยาตอนต้น) ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน เห็นได้จากการทำพระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเปิดกว้าง มีขอบไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลวสูง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ และการทำพระชงฆ์เป็นสัน หรือแข้งคม ต่างจากแบบแผนศิลปะล้านนา โดยเป็นการรับแบบอย่างมาจากพระละโว้ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าติโลกมหาราช สะท้อนให้เห็นถึงพระราชนิยมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้.นอกจากนี้ยังมีลักษณะเฉพาะที่เป็นข้อสังเกตในพระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ พระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) จะกางแยกห่างจากนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เล็กน้อย.พระพุทธรูปแบบแข้งคมพบในศิลปะล้านนาจำนวนไม่มากนัก คาดว่านิยมสร้างเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนใหญ่พบที่เชียงใหม่และลำพูน ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปแข้งคมที่พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน มีลักษณะเหมือนกับพระเจ้าแข้งคมที่วัดศรีเกิดทุกประการแต่มีขนาดเล็กกว่า พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานบนฐานชุกชี ในวิหารวัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น---------------------------------อ้างอิง- พระรัตนปัญญาเถระ, แสง มนวิทูร, แปล. ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร : กรมศิลปากร, 2501. หน้า 119.- ประชากิจกรจักร, พระยา (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : บุรินทร์การพิมพ์, 2516. หน้า 352.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 263-266.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 555-556, 640.- จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). “จารึกวัดศรีเกิด (เชียงใหม่)”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1435

เงินเจียง

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เงินเจียงอาณาจักรล้านนามีการคิดค้นพัฒนาระบบเงินตราขึ้นเป็นของตัวเอง เรียกว่า “เงินเจียง” โดยทำจากเนื้อเงินผสมสูง ทำให้เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุดของอาณาจักร คำว่า เงินเจียง เรียกตามสำเนียงพื้นเมืองทางภาคเหนือ มาจากคำว่า เชียง ซึ่งเป็นคำหน้าชื่อเมือง.ลักษณะเงินเจียงมีรูปทรงคล้ายเกือกม้าสองวงเชื่อมต่อกัน ตรงกลางระหว่างรอยต่อตอกด้วยสิ่วจนเกือบแยกขาดออกจากกัน เพื่อใช้สำหรับหักครึ่งเมื่อต้องมีการทอนค่าเงินลง และมีการประทับตราลงบนเงิน โดยแบ่งออกเป็น 3 ตรา คือ 1. ชื่อเมือง เพื่อระบุแหล่งที่ผลิตขึ้น จะระบุเป็นตัวอักษรย่อ ตัวอย่างเช่น แสน = เชียงแสน / หม = เชียงใหม่ / นาน = น่าน / คอนหรือดอน = ลำปาง / แพร = แพร่ เป็นต้น 2. ตัวเลขที่ใช้บอกน้ำหนักของเงิน โดยเงินเจียงขนาดใหญ่ หนักเท่ากับ 5 บาทของล้านนา เมื่อเทียบกับเงินพดด้วงของสุโขทัยและอยุธยาแล้วจะหนักเท่ากับ 4 บาท หรือ 1 ตำลึง และแบบขนาดเล็ก หนัก 2 บาทครึ่ง 1 บาท กึ่งบาท และอันละเฟื้อง ตามระบบน้ำหนักมาตรฐานของเงินพดด้วง3. ตราจักรประจำเมือง หรือ ตราของผู้ครองเมือง จะเป็นตราดวงกลม.อ้างอิง- นวรัตน์ เลขะกุล. เงินตราล้านนาและผ้าไท. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2543. หน้า 25, 34-35.- ธนาคารแห่งประเทศไทย. “เงินตราสมัยล้านนา”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 จาก https://www.bot.or.th/.../Northern/Pages/T-Lannacoin.aspx

พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากหินทราย

แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างพะเยา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ วัสดุ (ชนิด) หินทราย ขนาด หน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน ๔๑ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา โครงการโบราณคดีภาคเหนือ พบที่วัดพระเกิดคงคาราม เวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากหินทราย พบในพื้นที่เมืองพะเยาและในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิง จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมพบว่า สกุลช่างพะเยาทำพระพุทธรูปที่มีเม็ดพระศกมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมมีส่วนยอดเรียวแหลม เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดของวัสดุหินทราย ที่ไม่สามารถสลักให้ขมวดเป็นวงก้นหอยได้ ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างเสี้ยม ส่วนประกอบของพระพักตร์ ได้แก่ พระขนง พระนาสิก เชื่อมต่อกันเป็นสันนูน เป็นลักษณะพระพักตร์ที่พบอยู่ในบางสกุลช่างของเมืองพะเยา ไม่ค่อยนิยมทำไรพระศก มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างตวัดขึ้นสูง พระวรกายโปร่งเพรียว มักประทับขัดสมาธิราบ ทำปางมารวิชัย


Messenger