...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
สุวรรณจังโกฐสำริด

สุวรรณจังโกฐสำริด เลขทะเบียน ๕๒๖ / ๒๕๑๖ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด ฐานกว้าง ๓๗.๑ เซนติเมตร สูง ๕๗.๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ มอบให้จัดแสดง ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สุวรรณจังโกศ สำหรับประดิษฐานพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ทำเป็นทรงแปดเหลี่ยม ประกอบด้วยฐานและส่วนฝา ส่วนฐานมีหน้ากระดานท้องไม้ขนาดใหญ่ ตกแต่งลายกรอบช่องกระจก เหนือท้องไม้ขึ้นไปตรงมุมประดับด้วยลายดอกประจำยาม ส่วนฝามีการตกแต่งส่วนมุมด้วยลายกนก ส่วนยอดบนสุดทำเป็นชั้นฐานปัทม์รองรับรูปแปดเหลี่ยมส่วนปลายยอดแหลม

รอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท เลขทะเบียน ๓๘ / ๒๕๑๖ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ บูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ วัสดุ (ชนิด) ไม้ลงรักปิดทองล่องชาด ประดับมุก ขนาด กว้าง ๑๒๔ เซนติเมตร สูง ๒๐๐ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยืมจัดแสดง ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รอยพระพุทธบาทไม้ลงรัก ทาชาด ประดับมุกและกระจก ตกแต่งบริเวณขอบด้านนอกด้วยลงรักปิดทองเป็นลายพันธุ์พฤกษา ตรงกลางทำรูปธรรมจักรประดับด้วยแก้วอังวะ (กระจกจืน) ใต้นิ้วพระบาททำเป็นรูปมงคล ๑๐๘ ประการ จัดตามตำแหน่งระบบภูมิจักรวาลตามแนวตั้ง ตั้งแต่โสฬสพรหมโลกชั้นสูงสุด ลดหลั่นด้วยพรหมโลกชั้นรองลงมา จนถึงเทวโลกที่ประกอบไปด้วยสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ ฉกามาพจร ปรนิมมิตวสวดี นิมมานรดี ยามา ดุสิต ดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิก ซึ่งแต่ละชั้นจะมีอักษรล้านนาอธิบาย ยกเว้นเมื่อกล่าวถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ หรือชั้นสูงสุด โดยใช้คำว่า “อกนิฏฐาพรหม” เขียนด้วยอักษรปาละของอินเดีย ตอนกลางเขียนภาพแกนจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยสีทันดรสมุทร เทือกเขาทั้ง ๗ และมหาทวีปทั้ง ๔ มีรูปพระเจ้าจักรพรรดิกับสิ่งของอันเป็นมงคลทั้งหลายประทับอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ โดยมีกำแพงจักรวาลล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายในรอยพระพุทธบาทนี้ประดับเต็มไปด้วยรูปเทวดา ปราสาท สัตว์ ดอกไม้ทิพย์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสะท้อนความหมายของภูมิจักรวาล หลายภาพมีคำอธิบายเขียนด้วยอักษรล้านนา ภาษาบาลีและภาษาไทยวน ที่ส้นพระบาทระบุพระนามอดีตพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระกัสสปะ พระโกนาคมนะ พระกกุสันธะ โดยรอยพระบาทของพระโคตรมะเป็นรอยพระบาทสุดท้ายแต่ไม่ได้ระบุพระนาม จุดเด่นของรอยพระพุทธบาท ได้แก่ รูปจักรรัตนะที่ประดับอยู่กึ่งกลางพระบาท ด้านหนึ่งของรอยพระพุทธบาทมีจารึกกล่าวถึงการบูรณะรอยพระพุทธบาท ความว่า ในพุทธศักราช ๒๓๓๗ พระเจ้ากาวิละและพระราชวงศ์ ได้ร่วมกันบูรณะรอยพระพุทธบาทไม้เก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้ภายในวัดพระสิงห์ โดยเปลี่ยนแผ่นไม้กระดานที่ชำรุดแล้วลงรักปิดทองล่องชาด แต่ไม่ได้ประดับมุก ในการบูรณะครั้งนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแก้วอังวะที่ประดับภายในจักรรัตนะ เนื่องจากแก้วอังวะแต่ละแผ่น จะมีการปั้นรักนูนหนาล้อมรอบขึ้นเป็นกรอบ ส่วนด้านล่างของจารึก ยังมีร่องรอยงานลง รักปิดทอง สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในศรีลังกา ลักษณะเครื่องทรงเทวดา ลายพันธุ์พฤกษา และลายประกอบต่าง ๆ ภายในรอยพระพุทธบาท มีความคล้ายคลึงกับที่พบในเครื่องทรงของเทวดาปูนปั้นประดับวิหาร ที่วัดโพธารามมหาวิหาร ซึ่งมีอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช รวมทั้งรูปแบบของอักษรจารึกที่ใช้อยู่ในราวพุทธศักราช ๒๐๐๐ – ๒๑๕๐ ดังนั้นรอยพระพุทธบาทนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ ที่มา: ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๒๖๑. ฮันส์ เพนธ์, พรรณเพ็ญ เครือไทย และศรีเลา เกษพรหม, ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๒ จารึกพระเจ้ากาวิละ (เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๑), ๔๕ – ๕๒.

ตุงและคันตุง ๙๐/๒๕๔๑

ตุงและคันตุง เลขทะเบียน ๙๐ / ๒๕๔๑ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ วัสดุ (ชนิด) ชินชุบทอง ขนาด สูงพร้อมฐาน ๓๖ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตุงและคันตุงนี้มีรูปแบบทางศิลปกรรมใกล้เคียงกับเครื่องราชูปโภคจำลอง ทะเบียน ๓๙๔/ ๒๕๑๖ น่าจะถูกสร้างขึ้นเป็นชุดเดียวกัน เห็นได้จากที่แขวนตุงทำเป็นรูปนาคเกี้ยวเช่นเดียวกับพนักบัลลังก์ คันตุงตั้งอยู่บนแท่นแก้ว (บัลลังก์) ที่มีการฉลุลวดลายโปร่ง และประดับด้วยกระจังสามเหลี่ยมที่มุมทั้งสี่ของบัลลังก์ด้านบน คันตุงถูกขนาบข้างด้วยเสากลมสี่เสาสั้น ๆ ส่วนยอดเสาแหลม ยอดสุดของคันตุงแยกออกเป็นสองแฉก มีลายนาคเกี้ยวด้านบนสุดแขวนตุงสองอัน ตุงทำส่วนปลายแหลมทั้งหัวและท้าย ตุงอันหนึ่งสลักลายขูดขีด เป็นลายบัวคอเสื้อที่คอตุง ส่วนตัวตุงเป็นลายเมฆแบบศิลปะจีน ทิ้งช่องไฟห่าง ๆ กัน

ตุงและคันตุง ๘๙/๒๕๔๑

ตุงและคันตุง เลขทะเบียน ๘๙ / ๒๕๔๑ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ วัสดุ (ชนิด) โลหะ ขนาด สูงพร้อมฐาน ๓๕.๕ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตุง เป็นเครื่องแขวนอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในพิธีกรรม คล้ายธง โดยตุงถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ตามแต่โอกาสที่ใช้และฐานะของผู้สร้าง หากเป็นตุงที่สร้างจากวัสดุที่ไม่กวัดไกวตามกระแสลม จะเรียกตุงชนิดนั้นว่า ตุงกระด้าง ซึ่งสร้างด้วยโลหะ ไม้ หรือปูน เป็นต้น หลักฐานการใช้ตุงเป็นเครื่องพุทธบูชาปรากฏในเอกสารล้านนาโบราณหลายฉบับ เช่น ตำนานเมืองเชียงแสน กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุเหนือยอดดอยลูกหนึ่ง แล้วพระมหากัสสปเถระเจ้าก็ได้อธิษฐานตุงขึ้นตั้ง คันตุงนั้นสูงแปดพันวา ตุงยาวเจ็ดพันวา กว้างสี่ร้อยวา หลังจากเหตุการณ์นี้ คนทั้งหลายจึงเรียกดอยแห่งนั้นว่าดอยตุง โดยหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการใช้ตุงปรากฏในศิลาจารึกวัดพระยืน ระบุว่าเมื่อราว พ.ศ.๑๙๑๓ เมื่อพญากือนาตั้งขบวนต้อนรับพระสุมนเถระจากสุโขทัย ในขบวนนั้นมีการประดับด้วยธง (ตุง) เหตุที่ชาวล้านนานิยมถวายตุงไว้ในพระพุทธศาสนา เพราะมีความเชื่อว่าการถวายทานตุงนั้นได้อานิสงค์มาก เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วจะไม่ตกนรก สำหรับตุงเครื่องพุทธบูชารายการนี้ มีลักษณะเป็นเสาตุงที่ตั้งอยู่เหนือหม้อน้ำ หม้อน้ำนั้นอาจหมายถึงหม้อบูรณฆฏะ (หม้อดอก) ตามคติความเชื่อดั้งเดิมของอินเดียที่เข้ามานิยมแพร่หลายอยู่ในล้านนา ในฐานะสัญลักษณ์มงคลที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญเติบโต ส่วนคันตุงด้านบนแยกออกเป็นสามแฉก แขวนตุงสามชิ้น ตุงมีสัณฐานยาวรี ชิ้นหนึ่งสลักลายเส้นรูปปราสาทที่ตั้งอยู่เหนือฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกันเจ็ดชั้น ระหว่างชั้นฐานกลีบบัวคั่นด้วยลายริ้วขนานกันในแนวนอนเหมือนระลอกคลื่น อาจเป็นสัญลักษณ์หมายถึงภูมิจักรวาลตามคติความเชื่อในล้านนา ดังนั้น ตุงและคันตุงนี้ จึงให้ความหมายของความอุดมสมบูรณ์ของจักรวาล หรือการกำเนิดขึ้นของจักรวาล ก็เป็นได้ ที่มา ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร, บรรณาธิการ, ตำนานเมืองเชียงแสน (เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๗.

เจดีย์จำลอง

เจดีย์จำลอง เลขทะเบียน ๓๙๘ / ๒๕๑๖ แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ วัสดุ (ชนิด) สำริด ขนาด ฐานกว้าง ๔.๖ เซนติเมตร สูง ๑๗ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เจดีย์จำลอง ส่วนฐานล่างเป็นทรงกลมคล้ายหม้อดอก หรือหม้อบูรณฆฏะ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์หรือความเจริญรุ่งเรือง ส่วนฝาทำเป็นเจดีย์ทรงกลม ตั้งบนฐานปัทม์ซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆังกลม ส่วนยอดทำเป็นทรงกรวยแหลม บนสุดทำเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ


Messenger