...

ด้านความรู้อื่นๆ
ชุธาตุ

๐ สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ มีเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆมามอบให้กับแฟนเพจทุกๆท่านค่ะ โดยวันนี้เราขอเสนอองค์ความรู้ เรื่อง “ชุธาตุ ความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดของล้านนา” ค่ะ ๐ "ชุธาตุ" (ออกเสียงว่า จุ๊ธาตุ) เป็นคำเรียกอันแสดงถึงความเชื่อเรื่องการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนา โดยเป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและการให้ความหมายต่อองค์พระบรมธาตุสำคัญอย่างเป็นระบบด้วยจำนวน 12 องค์ ควบคู่กับปีนักษัตรในล้านนา โดยชาวล้านนาจะมีความเชื่อว่า “ดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไปตามที่ “ตั๋วเปิ้ง”(สัตว์ประจำนักษัตร) พาไปพักเพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น” ๐ ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตน และหาโอกาสไปไหว้พระธาตุสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อเป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิตค่ะ ๐ แม้ว่าความเชื่อเรื่องการไหว้บูชาพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตรจะไม่ใช่หลักปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา หากแต่เป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หาโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อเดินทางไปนมัสการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของแต่ละคนให้ได้รับอานิสงส์ผลบุญและเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง ๐ เมื่อเราทราบว่าพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองอยู่ที่ไหน จังหวัดอะไรแล้วอย่าลืมหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของเราสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลกันด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้านะคะ ---------------------------------------------------- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. e-mail : cm_museum@hotmail.com สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308 For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตอนที่ 2

" ๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่" ๐ เนื่องในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่จะถึงนี้ เป็นวาระครบรอบ ๔๘ ปี การเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ ๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จึงขอนำเสนอ เรื่องราวความทรงจำ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา ๔๘ ปีที่ผ่านมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน ค่ะ '''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''' (ตอนที่ ๒) : ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง . นับตั้งแต่ก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ นั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงหลักๆ ดังนี้ +++ พุทธศักราช ๒๕๑๖ – ๒๕๓๙ +++ . ในระยะแรก กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ มอบของให้ ได้แก่ พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่กรมศิลปากรทำการสำรวจ กอบกู้ และขนย้ายมาจากวัดร้างต่างๆ, พื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนภูมิพล และจากประชาชนทั่วไป . นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของภาคเหนือ และตัวอย่างศิลปกรรมสมัยต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในกำกับดูแลของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำมาร่วมจัดแสดงด้วย ต่อมา เมื่อมีการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดี การขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพิ่มมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการอนุรักษ์ จัดเก็บ และจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ +++ พุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๕๖ +++ . ช่วงพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๕๖ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุง และเพิ่มเติมเนื้อหาสาระวิชาการให้หลากหลายสาขายิ่งขึ้น ในลักษณะของพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง จังหวัด และ ภูมิภาค โดยเน้นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาและนครเชียงใหม่ รวมทั้งความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๖ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ แสดงเรื่องราวทางธรณีวิทยาและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมไปถึงเรื่องราวของชนเผ่าลัวะและหริภุญไชย ส่วนที่ ๒ แสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา ส่วนที่ ๓ แสดงเรื่องราวของนครเชียงใหม่ใต้ร่มอาณาจักรสยาม ตั้งแต่การกอบกู้เอกราชจากพม่า การตั้งเมืองเชียงใหม่ และความสัมพันธ์กับอาณาจักรสยาม ส่วนที่ ๔ แสดงเรื่องการค้า และเศรษฐกิจของล้านนา ส่วนที่ ๕ แสดงเรื่องราวการดำรงชีวิตและพัฒนาการทางสังคม ส่วนที่ ๖ แสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมล้านนา และศิลปกรรมในประเทศไทย . นอกจากแผนที่ แผนผัง แผนภูมิ ภาพถ่าย ป้ายคำบรรยายและป้ายคำอธิบายวัตถุที่ใช้เป็นสื่อจัดแสดงระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่และผู้เข้าชมแล้ว การปรับปรุงนิทรรศการถาวรครั้งนี้ ยังได้เพิ่มเติมและเทคนิคและสื่อการจัดแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจำลองหลุดขุดค้นทางโบราณคดี ภาพเขียนเล่าเรื่อง ภาพเขียนประกอบหุ่นจำลองบุคคลและเหตุการณ์สำคัญพร้อมเสียงบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การใช้ตู้จัดแสดงภาพโปร่งแสงขนาดใหญ่ การแสดงเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนิทรรศการผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบสัมผัสหน้าจอ +++ พุทธศักราช ๒๕๕๖ - ปัจจุบัน +++ . ช่วงพุทธศักราช ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ มีการปรับปรุงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทั้งหมดอีกครั้ง โดยเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมของล้านนาเพื่อให้สอดคล้องเท่าทันความก้าวหน้าทางวิชาการปัจจุบัน การจัดแสดงเดิมที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา ถูกลดระดับความสำคัญลงไป เพื่อพัฒนาให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์กลางการศึกษา อนุรักษ์ และให้บริการข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบนอย่างชัดเจน . การปรับปรุงนิทรรศการครั้งใหม่นี้ เน้นความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยให้ความสำคัญกับการออกแบบครุภัณฑ์ เช่น ตู้ ชั้น แท่นฐาน และแผงจัดแสดง การใช้สี การจัดวาง และการจัดแสง และเพิ่มการให้บริการข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑสถานและข้อมูลรายละเอียดของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงด้วยสื่อมัลติมีเดีย และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัย เช่น ระบบ QR/AR CODE ระบบไดโอรามาจำลองภาพสามมิติ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) . นอกจากนี้ มีการก่อสร้างอาคารคลังพิพิธภัณฑ์ อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์และส่วนบริการธุรกิจศิลป์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งทำเทียมที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นในอนาคต ''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''

๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตอนที่ 1

" ๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่" ๐ เนื่องในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่จะถึงนี้ เป็นวาระครบรอบ ๔๘ ปี การเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ ๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จึงขอนำเสนอ เรื่องราวความทรงจำ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา ๔๘ ปีที่ผ่านมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอนค่ะ ....................................................... (ตอนที่ ๑) : จุดเริ่มต้นความทรงจำ . การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ มีการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ ๒๓ ไร่ อาคารพิพิธภัณฑสถานเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ก่ออิฐถือปูน ประดับยอดจั่วด้วยกาแลแบบศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ . วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ คือ การตั้งแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่รวบรวมได้จากบริเวณภาคเหนือตอนบน อันประกอบด้วย พื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน ลำพูน และลำปาง และสาเหตุที่พิจารณา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องจากมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นที่ตั้งของราชธานีหรือเมืองหลวง ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาหรือไทยฝ่ายเหนือมาก่อน อีกทั้งยังคงสถานะเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือสืบต่อมาจนทุกวันนี้ . เมื่ออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ แล้วเสร็จ ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานประกอบพิธีเปิด . พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๖ และสามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าชมและใช้บริการต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑสถานได้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม้เท้าหุ้มทองคำ

๐ สวัสดีค่ะทุกๆท่าน วันนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ มีสาระความรู้มามอบให้กับทุกๆท่านอีกเช่นเคย โดยในวันนี้ทางเราขอเสนอองค์ความรู้ เรื่อง “ไม้เท้าหุ้มทองคำ” โบราณวัตถุที่เรานำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “นิทัศน์นวรัฐวงศา : ส่องเจ้า ผ่อนาย จากเครื่องใช้ในอดีต” โดยไม้เท้าหุ้มทองชิ้นนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ของเราได้มีโอกาสนำขึ้นมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกค่ะ """""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" . "ไม้เท้าหุ้มทองคำ" นี้เดิมเป็นสมบัติใน "พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นมรดกในเจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ และ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ตามลำดับ โดยเจ้าวีระยุทธ์ ณ เชียงใหม่ได้รับสืบทอดเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑ . ภายหลังจากการมรณกรรมของเจ้าวีระยุทธ ณ เชียงใหม่ (เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓) ทายาท ณ เชียงใหม่ นำโดย นางสาวพิมลมาศ ณ เชียงใหม่, นายพันธุ์ปิติ ณ เชียงใหม่, นายพงษ์กฤษณ์ ณ เชียงใหม่, นางสุรัตน์ ณ เชียงใหม่ และ ทายาทสายตรงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สายสกุล ณ เชียงใหม่ ได้นำไม้เท้ามามอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงในฐานะมรดกของชาวเชียงใหม่ และสมบัติของชาติ สืบไป . "ไม้เท้าหุ้มทอง" มีลักษณะเป็นไม้กลึงเป็นท่อนกลม ขนาด ๑๓๙ เซนติเมตร ด้านบนหุ้มด้วยทองคำ ขนาดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร สลักลวดลายลงยาสีแดงและสีเขียวคล้ายดอกบัวบานหรือรูปดาวแฉก ด้านข้างของหัวไม้เท้าทำเป็นลายคล้ายกลีบดอกบัวซ้อนหรือลายสร้อยดอกหมาก อีกด้านหนึ่งทำเป็นเสียมเหล็ก ขนาดยาวประมาณ ๑๑.๕ เซนติเมตร กว้าง ๓ เซนติเมตร ส่วนต้นของเสียมหุ้มด้วยโลหะนาก . เจ้าแก้วนวรัฐได้ใช้ไม้เท้านี้เมื่อเสด็จไปที่ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเสด็จลงสวน ซึ่งพระองค์จะใช้ส่วนด้ามที่ทำเป็นเสียมขนาดกะทัดรัด สำหรับหมายพื้นดินให้คนขุดหลุมปลูกต้นไม้หรือหว่านเม็ดพืช . ไม้เท้าหุ้มทองนี้ทำขึ้นอย่างประณีตสวยงามเป็นตัวอย่างงานช่างในยุคสมัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดี วัสดุที่นำมาสร้างและฝีมือช่างสะท้อนความสามารถในการเลือกใช้และผสมผสานงานช่างทอง ช่างไม้ ช่างโลหะได้อย่างกลมกลืน . นอกจากไม้เท้าหุ้มทองคำชิ้นนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ของเราได้นำโบราณวัตถุที่ได้รับมอบจากเจ้านายฝ่ายเหนืออีกหลายรายการมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ด้วยค่ะ เรียนเชิญทุกๆท่านเลยนะคะ . ไว้พบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้าค่ะ """""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) e-mail : cm_museum@hotmail.com สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308 For more information, please leave your message via inbox or call : +66 5322 1308+

ภาพของ 6 ชาติพันธุ์ที่สำคัญของมนุษย์

สำหรับเรื่องราวของชาติพันธุ์มนุษย์ หรือ Human Race นั้น ตามทฤษฎีโดยทั่วไปแล้ว จะมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มชาติพันธุ์หลักด้วยกัน อันได้แก่ - มองโกลอยด์ (Mongoloid) - คอเคซอยด์ (Caucasoid) - นิกรอยด์ หรือ เนกริโต (Negriod or Negrito) สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ ก็คือชาติพันธุ์หลักของผู้คนในเอเชียตะวันออก (จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, มองโกเลีย) เอเชียกลาง, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กลุ่มชนพื้นเมืองในภูมิภาคโพลินีเซียน (Polynesian : อาทิ ตองกา, ฮาวาย, ซามัว) ชาวเมารี (Maori) ในนิวซีแลนด์, ชาวเอสกิโมหรืออินูอิต (Inuit) รวมไปถึงชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือและใต้ ----- ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์คอเคซอยด์ ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์หลักของผู้คนในยุโรป, เอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง) เอเชียใต้ รวมไปถึงแอฟริกาเหนือ ----- และกลุ่มชาติพันธุ์นิกรอยด์ ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์หลักของผู้คนในทวีปแอฟริกา, ภูมิภาคเมลานีเซีย (Melanesian : อาทิ ปาปัวนิวกินี, ติมอร์ รวมไปถึงชนพื้นเมืองในมาเลเซีย อินโดนีเซีย) รวมไปถึงชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย (ชาวอะบอริจิน) เป็นต้น ----- โดยนอกจากกลุ่ม 3 ชาติพันธุ์หลักนี้แล้ว ในบางทฤษฎีอาจจะมีการแบ่งแยกย่อยได้ไปอีก อาทิเช่น ชาวอเมริกานอยด์ (Americanoid) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือและใต้ (หรือที่เรียกว่าชาวอินเดียนแดง) , ชาวกอยซาน (Khoisan) ซึ่งเป็นกลุ่มชนในแอฟริกาใต้ รวมไปถึง ชาวออสเตรลอยด์ (Australoid) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย เป็นต้น ----- *** Reference - https://www.quora.com/ - https://en.m.wikipedia.org/wiki/ - https://link.springer.com/.../10.1007%2F978-1-4020-6754-9... #Histofun