...

๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตอนที่ 2
" ๔๘ ปี แห่ง ความทรงจำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่"
๐ เนื่องในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่จะถึงนี้ เป็นวาระครบรอบ ๔๘ ปี การเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ
๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จึงขอนำเสนอ เรื่องราวความทรงจำ พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา ๔๘ ปีที่ผ่านมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน ค่ะ
''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''
(ตอนที่ ๒)  : ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง
. นับตั้งแต่ก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ นั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงหลักๆ ดังนี้
+++ พุทธศักราช ๒๕๑๖ – ๒๕๓๙  +++
. ในระยะแรก กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ มอบของให้ ได้แก่ พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่กรมศิลปากรทำการสำรวจ กอบกู้ และขนย้ายมาจากวัดร้างต่างๆ, พื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนภูมิพล และจากประชาชนทั่วไป 
. นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของภาคเหนือ และตัวอย่างศิลปกรรมสมัยต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในกำกับดูแลของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำมาร่วมจัดแสดงด้วย ต่อมา เมื่อมีการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดี การขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพิ่มมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการอนุรักษ์ จัดเก็บ และจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
+++ พุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๕๖ +++
. ช่วงพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๕๖ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุง และเพิ่มเติมเนื้อหาสาระวิชาการให้หลากหลายสาขายิ่งขึ้น ในลักษณะของพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง จังหวัด และ ภูมิภาค โดยเน้นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาและนครเชียงใหม่ รวมทั้งความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๖ ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ ๑ แสดงเรื่องราวทางธรณีวิทยาและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมไปถึงเรื่องราวของชนเผ่าลัวะและหริภุญไชย 
ส่วนที่ ๒ แสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา
ส่วนที่ ๓ แสดงเรื่องราวของนครเชียงใหม่ใต้ร่มอาณาจักรสยาม ตั้งแต่การกอบกู้เอกราชจากพม่า การตั้งเมืองเชียงใหม่ และความสัมพันธ์กับอาณาจักรสยาม
ส่วนที่ ๔ แสดงเรื่องการค้า และเศรษฐกิจของล้านนา
ส่วนที่ ๕ แสดงเรื่องราวการดำรงชีวิตและพัฒนาการทางสังคม 
ส่วนที่ ๖ แสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมล้านนา และศิลปกรรมในประเทศไทย
. นอกจากแผนที่ แผนผัง แผนภูมิ ภาพถ่าย ป้ายคำบรรยายและป้ายคำอธิบายวัตถุที่ใช้เป็นสื่อจัดแสดงระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่และผู้เข้าชมแล้ว การปรับปรุงนิทรรศการถาวรครั้งนี้ ยังได้เพิ่มเติมและเทคนิคและสื่อการจัดแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจำลองหลุดขุดค้นทางโบราณคดี ภาพเขียนเล่าเรื่อง ภาพเขียนประกอบหุ่นจำลองบุคคลและเหตุการณ์สำคัญพร้อมเสียงบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การใช้ตู้จัดแสดงภาพโปร่งแสงขนาดใหญ่ การแสดงเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนิทรรศการผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบสัมผัสหน้าจอ
+++ พุทธศักราช ๒๕๕๖ - ปัจจุบัน +++ 
. ช่วงพุทธศักราช ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ มีการปรับปรุงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทั้งหมดอีกครั้ง โดยเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมของล้านนาเพื่อให้สอดคล้องเท่าทันความก้าวหน้าทางวิชาการปัจจุบัน การจัดแสดงเดิมที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา ถูกลดระดับความสำคัญลงไป เพื่อพัฒนาให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์กลางการศึกษา อนุรักษ์ และให้บริการข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบนอย่างชัดเจน
. การปรับปรุงนิทรรศการครั้งใหม่นี้ เน้นความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยให้ความสำคัญกับการออกแบบครุภัณฑ์ เช่น ตู้ ชั้น แท่นฐาน และแผงจัดแสดง การใช้สี การจัดวาง และการจัดแสง และเพิ่มการให้บริการข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑสถานและข้อมูลรายละเอียดของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงด้วยสื่อมัลติมีเดีย และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัย เช่น ระบบ QR/AR CODE ระบบไดโอรามาจำลองภาพสามมิติ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum)
. นอกจากนี้ มีการก่อสร้างอาคารคลังพิพิธภัณฑ์ อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์และส่วนบริการธุรกิจศิลป์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งทำเทียมที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นในอนาคต 
''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''

























(จำนวนผู้เข้าชม 859 ครั้ง)


Messenger