คลองแม่ข่า
ลองแม่ข่า
คลองแม่ข่า น้ำแม่ข่า หรือ แม่น้ำข่า เป็นเส้นทางน้ำโบราณของจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในชัยภูมิที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า ๗๐๐ ปีก่อน มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็นคูเวียงชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิงช่วยการป้องกันน้ำท่วม
สายน้ำแห่งนี้เป็น ๑ ใน ๗ ศุภนิมิตรมงคล ในการเลือกพื้นที่สร้างเมืองเชียงใหม่ ปรากฏในพงศาวดารโยนก ความว่า “มีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกมาแต่ป่าใหญ่หนเหนือเข้าอาศัยอยู่ในที่ชัยภูมิ นี้มีคนเป็นอันมากมากระทำสักการบูชาเป็นชัยมงคลประการหนึ่ง อนึ่งมีฟานเผือกสองตัวแม่ลูกเข้าอาศัยในชัยภูมิ ที่นี้ต่อสู้ฝูงสุนัขทั้งหลายของนายพรานทั้งหลายได้สุนัขพ่ายไปเป็นชัยมงคลประการที่สอง อนึ่งเราทั้งหลายได้เห็นมหาเศวตมุสิกะหนูเผือกตัวใหญ่กับบริวาร ๔ ตัวออกจากชัยภูมินี้เป็นชัยมงคลประการที่สาม อนึ่งพื้นภูมิสถานที่อันจะตั้งพระนครนี้สูงเบื้องตะวันตกเอียงหาตะวันออกเป็นชัยมงคลประการที่สี่ อนึ่งอยู่ที่นี่เห็นน้ำตกและเขาอุสุจบรรพตคือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำไหลขึ้นไปหนเหนือแล้วเลี้ยวไปหนตะวันออก แล้ววนลงไปทิศใต้ แล้วไปทิศตะวันตกโอบล้อมเวียงกุมกาม ลำน้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวกอดเมืองอันนี้ไว้เป็นชัยมงคลประการที่ห้า อนึ่งแม่น้ำนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำได้ชื่อว่าแม่ขานไหลไปตะวันออกแล้วจึงไปทิศใต้เทียบข้างแม่พิงค์ไปได้ชื่อว่าแม่โท อนึ่งหนองใหญ่มีอยู่หนตะวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิคือหนอีสานดังนี้ ท้าวพระยานานาประเทศจักมาบูชาเป็นชัยมงคลประการที่หก อนึ่งแม่น้ำระมิงค์อันเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่มหาสระซึ่งพระพุทธเจ้าได้มาอาบยังดอยสลุง ไหลมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์กรายไปตะวันออกเวียงเป็นชัยมงคลประการที่เจ็ดรวมเป็นชัยมงคล ๗ ประการ”
อีกทั้งปรากฏ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า “...อยู่ที่นี่ หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพ มาเป็น แม่น้ำไหลไปหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออก แล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้...”
แต่จากการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำต่ำเกินค่ามาตรฐาน ความทรงจำด้านประวัติศาสตร์ของสายน้ำถูกกลืนหายไปกับความเจริญที่รุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ แนวคิดในการฟื้นฟูคลองแม่ข่าจึงเกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ขุดลอกคลอง รณรงค์สร้างความร่วมมือของภาคประชาชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ การจัดการระบบบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่เมือง การปรับปรุงภูมิทัศน์เปิดพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ของชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว อันเป็นการปลุกสายน้ำแห่งนี้ให้มีชีวิตเช่นครั้งอดีต
#คลองแม่ข่า
#เอกสารจดหมายเหตุ
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
อ้างอิง
พลโท ดำรงค์ คงเดช. ๒๕๖๔. การบูรณาการความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูสภาพลำน้ำคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่. วารสารทหารพัฒนา ปีที่ ๔๕ (ฉบับที่ ๓ กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๔) : หน้า ๑.
สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่. ๒๕๖๑. แผนแม่บทคลองแม่ข่า (๒๕๖๑ - ๒๕๖๕). เชียงใหม่.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ๒๕๔๗. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
กรมศิลปากร. ๒๕๐๔. พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ๒๕๕๗. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์.
คลองแม่ข่า น้ำแม่ข่า หรือ แม่น้ำข่า เป็นเส้นทางน้ำโบราณของจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในชัยภูมิที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า ๗๐๐ ปีก่อน มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็นคูเวียงชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิงช่วยการป้องกันน้ำท่วม
สายน้ำแห่งนี้เป็น ๑ ใน ๗ ศุภนิมิตรมงคล ในการเลือกพื้นที่สร้างเมืองเชียงใหม่ ปรากฏในพงศาวดารโยนก ความว่า “มีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกมาแต่ป่าใหญ่หนเหนือเข้าอาศัยอยู่ในที่ชัยภูมิ นี้มีคนเป็นอันมากมากระทำสักการบูชาเป็นชัยมงคลประการหนึ่ง อนึ่งมีฟานเผือกสองตัวแม่ลูกเข้าอาศัยในชัยภูมิ ที่นี้ต่อสู้ฝูงสุนัขทั้งหลายของนายพรานทั้งหลายได้สุนัขพ่ายไปเป็นชัยมงคลประการที่สอง อนึ่งเราทั้งหลายได้เห็นมหาเศวตมุสิกะหนูเผือกตัวใหญ่กับบริวาร ๔ ตัวออกจากชัยภูมินี้เป็นชัยมงคลประการที่สาม อนึ่งพื้นภูมิสถานที่อันจะตั้งพระนครนี้สูงเบื้องตะวันตกเอียงหาตะวันออกเป็นชัยมงคลประการที่สี่ อนึ่งอยู่ที่นี่เห็นน้ำตกและเขาอุสุจบรรพตคือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำไหลขึ้นไปหนเหนือแล้วเลี้ยวไปหนตะวันออก แล้ววนลงไปทิศใต้ แล้วไปทิศตะวันตกโอบล้อมเวียงกุมกาม ลำน้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวกอดเมืองอันนี้ไว้เป็นชัยมงคลประการที่ห้า อนึ่งแม่น้ำนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำได้ชื่อว่าแม่ขานไหลไปตะวันออกแล้วจึงไปทิศใต้เทียบข้างแม่พิงค์ไปได้ชื่อว่าแม่โท อนึ่งหนองใหญ่มีอยู่หนตะวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิคือหนอีสานดังนี้ ท้าวพระยานานาประเทศจักมาบูชาเป็นชัยมงคลประการที่หก อนึ่งแม่น้ำระมิงค์อันเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่มหาสระซึ่งพระพุทธเจ้าได้มาอาบยังดอยสลุง ไหลมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์กรายไปตะวันออกเวียงเป็นชัยมงคลประการที่เจ็ดรวมเป็นชัยมงคล ๗ ประการ”
อีกทั้งปรากฏ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า “...อยู่ที่นี่ หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพ มาเป็น แม่น้ำไหลไปหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออก แล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้...”
แต่จากการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำต่ำเกินค่ามาตรฐาน ความทรงจำด้านประวัติศาสตร์ของสายน้ำถูกกลืนหายไปกับความเจริญที่รุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ แนวคิดในการฟื้นฟูคลองแม่ข่าจึงเกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ขุดลอกคลอง รณรงค์สร้างความร่วมมือของภาคประชาชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ การจัดการระบบบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่เมือง การปรับปรุงภูมิทัศน์เปิดพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ของชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว อันเป็นการปลุกสายน้ำแห่งนี้ให้มีชีวิตเช่นครั้งอดีต
#คลองแม่ข่า
#เอกสารจดหมายเหตุ
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
อ้างอิง
พลโท ดำรงค์ คงเดช. ๒๕๖๔. การบูรณาการความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูสภาพลำน้ำคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่. วารสารทหารพัฒนา ปีที่ ๔๕ (ฉบับที่ ๓ กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๔) : หน้า ๑.
สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่. ๒๕๖๑. แผนแม่บทคลองแม่ข่า (๒๕๖๑ - ๒๕๖๕). เชียงใหม่.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ๒๕๔๗. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
กรมศิลปากร. ๒๕๐๔. พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ๒๕๕๗. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์.
(จำนวนผู้เข้าชม 4686 ครั้ง)