...

เสียงหวูดรถไฟจากสถานีกรุงเทพสู่สถานีรถไฟเชียงใหม่
เสียงหวูดรถไฟจากสถานีกรุงเทพสู่สถานีรถไฟเชียงใหม่
         ทางรถไฟสายเหนือ เริ่มมีการก่อสร้างหลังจากเส้นทางรถไฟสายนครราชสีมาแล้วเสร็จ โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สู่ลพบุรี ปากน้ำโพ พิษณุโลก ลำปาง จนถึงเชียงใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายสิบปี เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา จนต้องมีการขุดอุโมงค์ถึง  ๔ จุด
         ดังความที่ปรากฏในเอกสารจดหมายแหตุ ที่กล่าวถึงการเริ่มต้นก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือไว้ว่า “มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ แด่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศว่า ด้วยเป็นการสมควรที่จะให้รู้แน่ว่า การทำทางรถไฟขึ้นไปจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองนครเชียงใหม่ และมีติ่งทางแยกอื่น ๆ อีกด้วยนั้น จะทำเป็นประโยชน์ใช้ได้ฤาไม่ และราคาที่จะทำทางงรถไฟนั้น  จะได้ประมาณดูให้รู้ด้วย และเพื่อประโยชน์วันนี้ จึงจะให้ทำการเซอรเว (ตรวจดูแผนที่ทาง) ที่สมควรแก่การนั้น”
         ครั้นแล้วเสร็จรวมระยะทางจากสถานีกรุงเทพสู่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ด้วยความยาวทั้งสิ้น ๗๕๒.๐๐๗ กิโลเมตร และมีทางแยกที่สถานีชุมทางบ้านดารา จังหวัดพิษณุโลกไปยังสถานีสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ความยาว ๒๙.๐๐๗ กิโลเมตร และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ รถไฟขบวนปฐมฤกษ์ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่อันเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ตรงกับสมัยเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่ ๙ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ โดยเปิดเดินรถสัปดาห์ละ ๒ ขบวน
         สถานีรถไฟเชียงใหม่ ได้กลายเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดต้อนรับผู้คนมากมายเข้ามาสัมผัสกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ธรรมชาติอันงดงาม พลิกหน้าประวัติศาสตร์ทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ของนครเชียงใหม่ ความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้นทุกด้าน ทั้งการก่อสร้างโรงแรมรถไฟที่สามารถใช้เป็นรับรองแขกบ้านแขกเมือง เช่น การประชุมแพทย์เมืองร้อน ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ เกิดการก่อสร้างคลังสินค้าในตำบลสันป่าข่อยและหนองประทีป ส่งผลต่อการลดบทบาทของการขนส่งทางเรือในระยะต่อมา
         ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปี จวบจนปัจจุบัน สถานีรถไฟเชียงใหม่ยังคงความสำคัญ ในฐานะสถานีรถไฟปลายทางสายเหนือที่นำผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ แบกสัมภาระเต็มหลัง กล่าวคำทักทายด้วยภาษาที่ไม่คุ้นหู เข้ามาสัมผัสถึงประเพณี วัฒนธรรม ที่ยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ไม่เสื่อมคลาย
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ  ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
#สถานีรถไฟเชียงใหม่
#เอกสารจดหมายเหตุ
#การรถไฟแห่งประเทศไทย
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
ข้อมูลอ้างอิง
๑. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร๕ ยธ ๕.๙ เอกสารกรมราชเลขาธิการ กรมรถไฟ (รถไฟสายเหนือ) (ร.ศ. ๑๐๖ – ร.ศ. ๑๒๗)
๒. การรถไฟแห่งประเทศไทย. ม.ป.ป. ประวัติการรถไฟแห่งประเทศไทย (Online). www.railway.co.th/AboutUs, ๑ มีนาคม ๒๕๖๕.
๓. ลำจุล ฮวบเจริญ. ๒๕๕๑. เมื่อเงาจักรวรรดินิยมปกคลุมสยามและล้านนาในความทรงจำ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒). กรุงเทพฯ : เดอะโนว์เลจเซ็นเตอร์
๔. อนุบาลรำลึก พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา). ๒๕๑๒. ม.ป.ท.
๕. ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์. ๒๕๒๒. การพัฒนาเวียงพิงค์ โดยร่างโครงผังเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒. ล้านนาปริทัศน์. (น. ๖๖). ม.ป.ท.













(จำนวนผู้เข้าชม 1330 ครั้ง)


Messenger