...

ถนนเจริญราษฎร์
ถนนเจริญราษฎร์
จากเส้นทางการค้าทางน้ำสู่ชุมชนการค้าย่านวัดเกต
 เส้นทางถนนที่ผ่านไปบริเวณชุมชนวัดเกต ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในอดีตคือที่พักของพ่อค้าทางเรือ ทำให้บริเวณนี้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่ปรากฎในจารึกวัดเกต พ.ศ. ๒๑๒๑ และ พ.ศ. ๒๑๒๔ ได้ปรากฏภาพการตั้งชุมชนในช่วงการเข้าปกครองเชียงใหม่โดยพม่า ว่ามีการบูรณะพระเกสธาตุเจดีย์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงใหม่โดยเจ้าพม่าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น และยุคการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าชาวจีนที่ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาจนปัจจุบัน
         ชุมชมวัดเกตกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ ท่าวัดเกต ริมแม่น้ำปิงคือหมุดหมายของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่นำสินค้าจากกรุงเทพฯ และปากน้ำโพ มาจำหน่ายและเปิดร้านรวงตลอดถนนเจริญราษฎร์ กลุ่มคนอังกฤษเข้ามาตั้งบริษัทบอร์เนียวค้าไม้สัก กลุ่มมิชชันนารีเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนปริ้นส์รอแยลวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงพยาบาลแมคคอมิค ซึ่งขณะนั้นยังมีการทำไร่ทำนาอยู่บริเวณหลังวัดเกต
 ภาพความเจริญครั้งอดีตของชุมชนวัดเกต บนถนนเจริญราษฎร์ ยังคงปรากฏอาคารร้านค้า บ้านเรือนที่มีอายุราว ๑๐๐ ปี ก่อสร้างด้วยไม้สัก บ้างก่ออิฐถือปูน ที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นร้านอาหาร ที่พัก แกลเลอรีแสดงงานศิลปะ ร้านค้างาน handmade อีกทั้งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่ตกทอดจากบรรพบุรุษของคนในชุมชน ซึ่งช่วยบอกเล่าเรื่องราวครั้งอดีตได้เป็นอย่างดี
        นอกจากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏภาพความมั่งคั่งของความเจริญทางการค้าในอดีต ตลอดถนนสายนี้ยังเต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรม อาหารการกิน ความเป็นมิตรของผู้คน อันเป็นความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และสัมผัสได้ง่ายเพียงแค่ก้าวเดินไปบนเส้นทางถนนสายนี้
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
#ถนนเจริญราษฎร์เชียงใหม่
#เอกสารจดหมายเหตุ
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
ข้อมูลอ้างอิง
บุญเสริม สาตราภัย. ๒๕๕๔. เชียงใหม่ในความทรงจำ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์.
สมโชติ  อ๋องสกุล. ๒๕๖๒. ชุมชนรอบวัดในเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน โดยศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บริษัท วิทอินดีไซตน์ จำกัด.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. ๒๕๔๔. สังคมเมืองเชียงใหม่ “รุ่น ๓”. เชียงใหม่ : นนทบุรีการพิมพ์









(จำนวนผู้เข้าชม 2684 ครั้ง)


Messenger