...

นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเริ่มต้นรวบรวมเมืองหรือแคว้นขนาดเล็กที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่อกัน ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนพัฒนาเป็นรัฐขนาดใหญ่ขึ้น โดยในระยะแรกพญามังรายทรงรวมแคว้นโยนกก่อน แล้วพยายามขยายอำนาจสู่หัวเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นบริเวณกว้าง จากนั้นเริ่มขยายอำนาจสู่แคว้นหริภุญไชยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ เมื่อพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยแล้วได้ผนวกเข้ากับแคว้นโยนก หลังจากนั้นได้เข้ายึดเมืองเขลางค์นคร พญามังรายจึงครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของภาคเหนือ และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา นอกจากนี้ ทรงได้ทำสัญญาระหว่างพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ใน พ.ศ. ๑๘๓๐ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในการขยายอำนาจสู่แม่น้ำปิงนั้นจะไม่ถูกพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงขัดขวาง
หลังจากยึดเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ทรงครองแคว้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาสร้างอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม โดยมีพระประสงค์ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร แต่ที่ตั้งของเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก พญามังรายจึงพยายามหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ จนพบพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นบริเวณที่มีชัยภูมิดีเหมาะแก่การสร้างราชธานีถาวรและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง มาร่วมพิจารณาการสร้างเมือง พญามังรายทรงสร้างเมืองแห่งใหม่นี้โดยให้ชื่อว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ ซึ่งถือเป็นปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ โดยวันสร้างเมืองเชียงใหม่ได้กำหนดฤกษ์ยามดวงเมืองไว้ คำนวณตามปีสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๑๘๓๙
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่  
อ้างอิง :
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๖๐. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๓ จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
๒. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ๒๕๔๔. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
๓. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ๒๕๔๓. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพ : โอ.เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
๔. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. ม.ป.ป. ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ (ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงศ์มังราย และสมัยพม่าปกครอง). ม.ป.ท.



(จำนวนผู้เข้าชม 6386 ครั้ง)


Messenger