วัดธาตุเรณู บ้านเรณู ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
อำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ “ผู้ไท” อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เดิมชาว“ผู้ไท” ตั้งถิ่นฐานในแคว้นสิบสองจุไท แคว้นสิบสองปันนา ได้อพยพจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงข้ามมาในประเทศไทย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ตามตำนานของชาวผู้ไทเรณูนคร กล่าวว่า เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูหรือแถน มีปู่ลางเซิง ขุนเค็ก ขุนคาน ปกครองชาวผู้ไท เมื่อหัวหน้าชาวผู้ไทคนหนึ่งเกิดขัดแย้งกับเจ้าเมือง จึงชักชวนชาวผู้ไทจำนวนหนึ่งมาอาศัยอยู่ที่เมืองวังอ่างคำ แขวงสุวรรณเขต ปัจจุบัน แต่เกิดพิพาทกับชาวข่าที่อยู่อาศัยก่อน จึงพากันอพยพมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวสายเป็น พระแก้วโกมล เจ้าเมืองคนแรกและยกขึ้นเป็นเมืองเรณูนครขึ้นกับเมืองนครพนม ปัจจุบันคืออำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
อำเภอเรณูนครนี้ มีโบราณสถานสำคัญ คือ วัดธาตุเรณู บ้านเรณู ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ โดยท่านอุปัชฌาย์อินทร์เจ้าอาวาส และญาครูสงฆ์รองเจ้าอาวาสพร้อมด้วยฆราวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวเรณู เมื่อสร้างเสร็จได้ถูกฟ้าผ่าพังทลายลง ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสจึงได้ร่วมใจกันสร้างขึ้นอีก โดยก่ออิฐให้หนาขึ้นเมื่อแล้วเสร็จก็ทำการฉลองสมโภช ในปี พ.ศ.๒๔๖๓
มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุองค์เดิม สูง ๓๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๘.๓๗ เมตร ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ เรียกว่า ชะทาย ทำจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนังเป็นตัวประสาน มีซุ้มประตูหลอกทั้ง ๔ ด้าน ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะเช่นเดียวกับส่วนฐาน แต่ทำซ้อนลดชั้นขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ เหนือขึ้นไปเป็นเอวขัน และส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งชาวลาวเรียกว่า หัวน้ำเต้า หรือแบบหมากปลี ซึ่งหมายถึงปลีกล้วย ภายในบรรจุพระไตรปิฎกมี กำแพงแก้วชั้นในมีขนาด ๑๐.๕๐ เมตร และกำแพงแก้วชั้นนอกสุดมีขนาด ๒๓.๑๕ เมตร กรมศิลปากรสร้างองค์ใหม่ครอบทับเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถกว้าง ๘.๘๐ เมตร ยาว ๑๙.๕๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นอาคารคอนกรีต ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๓ เมตรยาว ๒๗.๕๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นอาคารคอนกรีต กุฏิสงฆ์จำนวน ๘ หลังเป็นอาคารไม้ ๔ หลังและครึ่งตึกครึ่งไม้ ๔ หลัง วิหารกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
พระพุทธรูปสำคัญ คือพระองค์แสน หรือหลวงพ่อองค์แสน เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง มีน้ำหนักถึง ๑๐ หมื่น จึงเป็นที่มาของคำว่าพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร ปางสมาธิ พระพักตร์แบบศิลปะลาว ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว อายุประมาณ ๑๐๐ ปี ถ้าท่านใดได้มาท่องเที่ยวที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ก็สามารถมาสักการะบูชาพระธาตุแห่งนี้ได้นะคะ
ข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์
อ้างอิง -คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว.
-กระทรวงศึกษาธิการ. กรมการศาสนา. กองพุทธศาสนสถาน. ฝ่ายศาสนสถาน. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 3990 ครั้ง)