บวชลูกแก้วหรือปอยส่างลองประเพณีบวชลูกแก้วหรือที่ชา
บวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง
ประเพณีบวชลูกแก้วหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ประเพณีปอยส่างลอง มักจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยจัดประมาณ ๓-๕ วัน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่จัดให้ลูกหลานเด็กผู้ชายที่มีเชื้อสายไทใหญ่อายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไป พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในจังหวัดเชียงใหม่บางอำเภอ ซึ่งคำว่าปอย หมายถึง งานหรือประเพณี คำว่า ส่าง แปลว่า น้อยหรือผู้บวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขา เป็นภาษาไทใหญ่ ส่วนคำว่า ลอง หรือ อลอง แปลว่า รัชทายาท
ก่อนการจัดประเพณีปอยส่างล่อง เจ้าบ้านจะจัดทำกำหนดการเพื่อเชิญชาวบ้านหรือบุคคลที่สนิทคุ้นเคยกัน แล้วส่งคนไปบอกบุญตามบ้านต่าง ๆ เรียกว่า ตกเทียน โดยนำเทียนไปแจกและบอกกำหนดการ ผู้ที่ได้รับเชิญจะไปร่วมงานและนำของใช้หรือเงินไปช่วยเจ้าภาพตามกำลังศรัทธา
เมื่อถึงวันงาน เริ่มด้วยการโกนผมของส่างลอง ให้เหลือแค่คิ้ว แต่งหน้า ทาปาก สวมใส่เครื่องประดับที่มีค่า เช่น สร้อยคอ กำไล แหวนและใช้ผ้าโพกศีรษะแบบชาวพม่า พร้อมเสื้อเชิงงอนปักดิ้นไหม นุ่งโจงกระเบนงดงาม คาดเอวด้วยเข็มขัดเงิน ผู้ที่เป็นพระอุปสมบทให้ส่างลอง เรียกว่า จองลอง และมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียก “ตะแปส่างลอง”
ในวันแรกของงานซึ่งเริ่มพิธีในเวลาเช้ามืด โดยพี่เลี้ยงจะนำส่างลองไปซ่อน เพื่อเรียกเงินจากเจ้าภาพ เมื่อได้เงินแล้วจะนำส่างลองขี่ขึ้นคอแล้วแห่ในขบวนพิธี โดยนำม้าเปล่า ๑ ตัวเดินนำขบวน ซึ่งถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองขี่นำไปทำพิธีการกุศล ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยฆ้อง ฉาบและกลอง และตะแปส่างลองจะเต้นตามจังหวะเพลงโยกส่ายไปมาเพื่อสร้างความสนุกครื้นเครง นำขบวนแห่ไปตามสถานที่สำคัญ เช่น ศาลหลักเมือง เจ้าอาวาสหรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อรับศีลรับพร
วันที่สองเรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ ไปตามถนนต่าง ๆ ตะแปส่างลองต้องให้ส่างลองขี่คอ และใช้ร่มทาสีทอง หรือที่เรียกว่า ร่มทีคำ ถือบังแดด ห้ามไม่ให้เท้าแตะพื้น เปรียบเหมือนส่างลองเป็นรัชทายาท ช่วงเย็นมีพิธีคำขวัญและสวดคำขวัญ เพื่อให้เห็นถึงบุญคุณของบิดาและมารดา หลังจากนั้นผู้คนที่สนิทกันเข้ามาอวยพรและพบปะสังสรรค์กันที่บ้าน
วันที่สามหรือวันหลู่ ถือเป็นวันที่สำคัญ เพราะเป็นวันที่จะต้องนำเครื่องไทยทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ อาราธนาศีลและเปลี่ยนการแต่งกายจากชุดลำลองเป็นผ้าไตร เข้าเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ มักบวชเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ไปจนถึง ๑ เดือนจึงจะสึกออกมา ประเพณีบวชลูกแก้วนี้ชาวไทใหญ่นิยมจัดขึ้นอย่างใหญ่โต บางคนใช้เงินที่สะสมไว้เป็นเวลาหลายปีเพื่อจัดงาน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นงานพิธีซึ่งได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ต่อตนเองและคนในครอบครัว
ปัจจุบันงานประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
ภาพชุดงานสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี.
๒. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
ภาพชุดการประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน.
๓. เชียงใหม่นิวส์.๒๕๖๒.งานประเพณีปอยส่างลอง มนต์เสน่ห์ของศิลปะประเพณี วัฒนธรรม อันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ (online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/936521/, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.
อ้างอิง :
๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. จ.เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
๒. ธันวดี สุขประเสริฐ.๒๕๕๘. “ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย : ปอยส่างลอง.” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (online). https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=12, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕.
๓. ปรมินทร์ นาระทะ. ๒๕๕๙. “ปอยส่างลองเวียงแหง เอกลักษณ์ชาวไทใหญ่” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Online). https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=532, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔.
๔. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๒. งานประเพณีปอยส่างลอง มนต์เสน่ห์ของศิลปะประเพณี วัฒนธรรม อันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ (online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/936521/ สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.
ประเพณีบวชลูกแก้วหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ประเพณีปอยส่างลอง มักจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยจัดประมาณ ๓-๕ วัน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่จัดให้ลูกหลานเด็กผู้ชายที่มีเชื้อสายไทใหญ่อายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไป พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในจังหวัดเชียงใหม่บางอำเภอ ซึ่งคำว่าปอย หมายถึง งานหรือประเพณี คำว่า ส่าง แปลว่า น้อยหรือผู้บวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขา เป็นภาษาไทใหญ่ ส่วนคำว่า ลอง หรือ อลอง แปลว่า รัชทายาท
ก่อนการจัดประเพณีปอยส่างล่อง เจ้าบ้านจะจัดทำกำหนดการเพื่อเชิญชาวบ้านหรือบุคคลที่สนิทคุ้นเคยกัน แล้วส่งคนไปบอกบุญตามบ้านต่าง ๆ เรียกว่า ตกเทียน โดยนำเทียนไปแจกและบอกกำหนดการ ผู้ที่ได้รับเชิญจะไปร่วมงานและนำของใช้หรือเงินไปช่วยเจ้าภาพตามกำลังศรัทธา
เมื่อถึงวันงาน เริ่มด้วยการโกนผมของส่างลอง ให้เหลือแค่คิ้ว แต่งหน้า ทาปาก สวมใส่เครื่องประดับที่มีค่า เช่น สร้อยคอ กำไล แหวนและใช้ผ้าโพกศีรษะแบบชาวพม่า พร้อมเสื้อเชิงงอนปักดิ้นไหม นุ่งโจงกระเบนงดงาม คาดเอวด้วยเข็มขัดเงิน ผู้ที่เป็นพระอุปสมบทให้ส่างลอง เรียกว่า จองลอง และมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียก “ตะแปส่างลอง”
ในวันแรกของงานซึ่งเริ่มพิธีในเวลาเช้ามืด โดยพี่เลี้ยงจะนำส่างลองไปซ่อน เพื่อเรียกเงินจากเจ้าภาพ เมื่อได้เงินแล้วจะนำส่างลองขี่ขึ้นคอแล้วแห่ในขบวนพิธี โดยนำม้าเปล่า ๑ ตัวเดินนำขบวน ซึ่งถือกันว่าเป็นม้าสำหรับเจ้าเมืองขี่นำไปทำพิธีการกุศล ขบวนแห่ส่างลองจะบรรเลงด้วยฆ้อง ฉาบและกลอง และตะแปส่างลองจะเต้นตามจังหวะเพลงโยกส่ายไปมาเพื่อสร้างความสนุกครื้นเครง นำขบวนแห่ไปตามสถานที่สำคัญ เช่น ศาลหลักเมือง เจ้าอาวาสหรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อรับศีลรับพร
วันที่สองเรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องปัจจัยไทยทานถวายพระสงฆ์ ไปตามถนนต่าง ๆ ตะแปส่างลองต้องให้ส่างลองขี่คอ และใช้ร่มทาสีทอง หรือที่เรียกว่า ร่มทีคำ ถือบังแดด ห้ามไม่ให้เท้าแตะพื้น เปรียบเหมือนส่างลองเป็นรัชทายาท ช่วงเย็นมีพิธีคำขวัญและสวดคำขวัญ เพื่อให้เห็นถึงบุญคุณของบิดาและมารดา หลังจากนั้นผู้คนที่สนิทกันเข้ามาอวยพรและพบปะสังสรรค์กันที่บ้าน
วันที่สามหรือวันหลู่ ถือเป็นวันที่สำคัญ เพราะเป็นวันที่จะต้องนำเครื่องไทยทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ อาราธนาศีลและเปลี่ยนการแต่งกายจากชุดลำลองเป็นผ้าไตร เข้าเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ มักบวชเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ไปจนถึง ๑ เดือนจึงจะสึกออกมา ประเพณีบวชลูกแก้วนี้ชาวไทใหญ่นิยมจัดขึ้นอย่างใหญ่โต บางคนใช้เงินที่สะสมไว้เป็นเวลาหลายปีเพื่อจัดงาน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นงานพิธีซึ่งได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ต่อตนเองและคนในครอบครัว
ปัจจุบันงานประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
ภาพชุดงานสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี.
๒. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
ภาพชุดการประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน.
๓. เชียงใหม่นิวส์.๒๕๖๒.งานประเพณีปอยส่างลอง มนต์เสน่ห์ของศิลปะประเพณี วัฒนธรรม อันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ (online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/936521/, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.
อ้างอิง :
๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. จ.เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
๒. ธันวดี สุขประเสริฐ.๒๕๕๘. “ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย : ปอยส่างลอง.” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (online). https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=12, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕.
๓. ปรมินทร์ นาระทะ. ๒๕๕๙. “ปอยส่างลองเวียงแหง เอกลักษณ์ชาวไทใหญ่” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Online). https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=532, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔.
๔. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๒. งานประเพณีปอยส่างลอง มนต์เสน่ห์ของศิลปะประเพณี วัฒนธรรม อันล้ำค่าและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ (online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/936521/ สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 22379 ครั้ง)