...

ฮ้านน้ำ
ฮ้านน้ำ
 ฮ้านน้ำ ตามความหมายในสารพจนานุกรมคือ ร้านน้ำ ที่ไว้หม้อน้ำ มักตั้งอยู่หน้าบ้าน มี “ส้อหล้อ” ที่มีลักษณะเป็นชั้นวาง หลังคาทรงจั่วด้านบน สำหรับวางหม้อน้ำหรือ “น้ำต้น”  ซึ่งน้ำต้นนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวไทยล้านนา ใช้เรียกภาชนะดินเผาที่ปั้นรูปทรงคล้ายหม้อหรือคนโทวางตั้งไว้ แล้วใส่น้ำสะอาด พร้อมกระบวยหรือแก้วสำหรับตักน้ำดื่ม ภายในหม้อน้ำจะมีความเย็นสดชื่นกว่าปกติเนื่องจากภาชนะเป็นดินเผา
 การตั้งฮ้านน้ำมีความเชื่อกันว่า ทานจากการตั้งน้ำดื่มแก่ผู้ที่สัญจรไปมาหรือแขกมาเยือนบ้านเป็นกุศลมหาศาล ตรงกันข้ามกับการหวงน้ำ เมื่อตายไปจะตกนรกหมกไหม้ อดอยากหิวโหยไม่มีน้ำดื่ม คนเฒ่าคนแก่จึงเชื่อถือเรื่องนี้มากว่าควรตั้งฮ้านน้ำและเปลี่ยนหรือทำความสะอาดหม้อน้ำทุกวัน หากใครมาแวะเยี่ยมเยือนต้องต้อนรับขับสู้ มีน้ำมีท่าให้แขกเหรื่อ จึงจะเป็นเจ้าบ้านที่ดี
 นอกจากภาคเหนือของไทยมีฮ้านน้ำแล้ว แหล่งอื่น ๆ ก็มีวัฒนธรรมดังกล่าว เช่น ภาคอีสานและชาวลาว เรียกร้านน้ำริมทางเช่นนี้ว่า “แอ่งดิน” และภาคใต้ เรียกว่า “เพล้ง” ในเขมรเรียกว่า “ตน็อล” โดยในเขมรพบว่าธรรมเนียมตั้งฮ้านน้ำเริ่มมีมาไม่นาน เนื่องจากผู้มาเยือนมักปฏิเสธเพราะระมัดระวังเรื่องไสยศาสตร์ ส่วนที่พม่า เรียกว่า “เยโออะหลู่” หรือ “หม้อน้ำทาน”
ภาพ: ร้าน white connection กาดฝรั่ง
อ้างอิง
๑. มณี พยอมยงค์. สารพจนานุกรมล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
๒. องค์ บรรจุน. ๒๕๕๙. "ธรรมเนียมร้านน้ำ" ของชาวเมียนมา." ศิลปวัฒนธรรม (Online)

(จำนวนผู้เข้าชม 5040 ครั้ง)