...

ตลาดวโรรสและความคึกคักในอดีต
#ภาพเก่าเล่าเรื่อง ตอน ตลาดวโรรสและความคึกคักในอดีต
 ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙) ชุมชมบ้านช้างม่อย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีอาณาเขตตั้งแต่รอบข่วงเมรุ แนวกำแพงเมืองชั้นนอก คูคลองแม่ข่าถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง คุ้มท่าเจดีย์กิ่วถึงท่าน้ำแพ ซึ่งเป็นท่าจอดเรือของเจ้าหลวงเชียงใหม่ เจ้านายสยาม พ่อค้า หมอศาสนา ผู้คนต่างบ้านต่างเมือง ทำให้ชุมชนขยายใหญ่ขึ้น เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ จึงเตรียมทำพิธีบริเวณข่วงเมรุ (ในอดีตเป็นสุสานของบรรดาเจ้านายในล้านนา) แต่มีบ้านของชาวบ้านรุกล้ำพื้นที่ ทำให้เจ้าราชวงศ์แก้วนวรัฐลงทุนซื้อบ้านที่รุกล้ำและจ่ายค่ารื้อถอนเกิดเป็นลานโล่ง ต่อมาเจ้าอุปราชแก้วนวรัฐ ได้ขายพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ และได้จัดดำเนินการในนาม “ตลาดวโรรส” ตามพระนามของเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘
 เมื่อเจ้าทิพเนตร พระราชมารดาของเจ้าราชบุตรถึงแก่พิราลัย เจ้าราชบุตรประสงค์จะจัดพิธีทำศพให้สมพระเกียรติจึงนำตลาดไปจำนำกับขุนอนุสารสุนทรกิจและไม่สามารถไถ่ถอนได้ตามกำหนด ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่ชั่วคราว และได้อัญเชิญพระอัฐิเจดีย์หรือกู่ของเจ้านายบริเวณข่วงเมรุไปไว้ที่วัดสวนดอก เมื่องานฉลองพระอัฐิสิ้นสุดลง พระราชชายาต้องการพัฒนาให้ตลาดวโรรสเป็นแหล่งรายได้ของสายสกุล ณ เชียงใหม่ จึงได้ทูลขอรัชกาลที่ ๖ ให้กู้ยืมเงินจากพระคลังเพื่อซื้อตลาดมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนพระองค์ หลังจากนั้นได้มีพ่อค้าแม่ค้าหาบเปี๊ยดใส่สิ่งของหลายชนิด อาทิ อาหารพื้นเมือง ของป่า เครื่องนุ่มห่ม มาวางขายกันเนืองแน่น และได้ปรับปรุงตลาดเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาด จนทำให้ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยเสียหายอย่างมาก เจ้าดารารัศมีจึงตัดสินใจขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดแก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่ และ บริษัท อนุสาร จำกัด ของสกุลชุติมาและนิมมานเหมินท์ ต่อจากนั้นบริษัทในเครืออนุสารได้ก่อสร้างตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยให้สะดวกและทันสมัยมากขึ้น และยังคงเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุดนายบุญเสริม สาตราภัย.
อ้างอิง :
๑. เสรินทร์ จิรคุปต์. ๒๕๕๓. “ตลาดวโรรสในรอบทศวรรษ.” ใน สุภาภรณ์ อาภาวัชรตม์ และ ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, เรื่องเล่าชาวกาด เล่ม ๗. เชียงใหม่ : มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่), ๑-๙.
๒. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. ๒๕๖๐. เปิดแผนยึดล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มติชน.













(จำนวนผู้เข้าชม 3976 ครั้ง)