งานฉลองรัฐธรรมนูญ
งานฉลองรัฐธรรมนูญ
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลระบอบใหม่ได้พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว คือ การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และหลังจากนั้นรัฐบาลได้กำหนดจัดงานอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยระยะเวลาในการจัดงานแต่ละปีแตกต่างกันไป เช่น
- พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม
- สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำหนดให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ ธันวาคม โดยวันแรกเป็นงานพระราชพิธี อีกสองวันที่เหลือเป็นงานฉลองและแสดงมหรสพ
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการจัดงานส่วนใหญ่จะจัดประมาณ ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ซึ่งได้จัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดงานในช่วงเวลาเดียวกัน แต่จำนวนวันและกิจกรรมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับงบประมาณและศักยภาพของแต่ละจังหวัด
วัตถุประสงค์ของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นการฉลองเหตุการณ์สำคัญที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎร (เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) รัฐบาลจึงต้องการดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ทำให้มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงร่วมด้วย เช่น การแสดงมหรสพต่าง ๆ การประกวดการออกร้านค้า การจำหน่ายสินค้า การประกวดนางสาวสยาม การประกวดเรียงความ การประกวดประณีตศิลปกรรม กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงานจะอยู่ภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมให้เกิดความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ แสดงสัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ เช่น รัฐธรรมนูญจำลอง เสา ๖ เสา ธง ๖ ผืน เป็นต้น
งานฉลองรัฐธรรมนูญลดบทบาทความสำคัญลงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื่องจากสงครามโลกและการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นงานรื่นเริงโดยสิ้นเชิง คงไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ ๑๐ ธันวาคมเท่านั้น
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน
อ้างอิง :
๑. ชาตรี ประกิตนนทการ. ๒๕๕๒. “งานฉลองรัฐธรรมนูญ.” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ (ตุลาคม ๒๕๕๒): ๑๖๔-๑๙๑.
๒. ศราวุฒิ วิสาพรม. ๒๕๕๙. ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕. นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชน.
๓. นิตยสารสารคดี. ม.ป.ป. ย้อนอดีต ๖ เรื่องรื่นเริงที่เคยเกิดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ (Online).
https://www.sarakadeelite.com/.../thailand-constitution.../, สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔.
๔. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. ม.ป.ป. งานฉลองรัฐธรรมนูญ-มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค (Online). https://parliamentmuseum.go.th/ar63-feast.html, สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔.
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลระบอบใหม่ได้พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว คือ การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และหลังจากนั้นรัฐบาลได้กำหนดจัดงานอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยระยะเวลาในการจัดงานแต่ละปีแตกต่างกันไป เช่น
- พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม
- สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำหนดให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ ธันวาคม โดยวันแรกเป็นงานพระราชพิธี อีกสองวันที่เหลือเป็นงานฉลองและแสดงมหรสพ
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการจัดงานส่วนใหญ่จะจัดประมาณ ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ซึ่งได้จัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดงานในช่วงเวลาเดียวกัน แต่จำนวนวันและกิจกรรมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับงบประมาณและศักยภาพของแต่ละจังหวัด
วัตถุประสงค์ของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นการฉลองเหตุการณ์สำคัญที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎร (เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) รัฐบาลจึงต้องการดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ทำให้มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงร่วมด้วย เช่น การแสดงมหรสพต่าง ๆ การประกวดการออกร้านค้า การจำหน่ายสินค้า การประกวดนางสาวสยาม การประกวดเรียงความ การประกวดประณีตศิลปกรรม กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงานจะอยู่ภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมให้เกิดความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ แสดงสัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการ เช่น รัฐธรรมนูญจำลอง เสา ๖ เสา ธง ๖ ผืน เป็นต้น
งานฉลองรัฐธรรมนูญลดบทบาทความสำคัญลงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื่องจากสงครามโลกและการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นงานรื่นเริงโดยสิ้นเชิง คงไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ ๑๐ ธันวาคมเท่านั้น
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน
อ้างอิง :
๑. ชาตรี ประกิตนนทการ. ๒๕๕๒. “งานฉลองรัฐธรรมนูญ.” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ (ตุลาคม ๒๕๕๒): ๑๖๔-๑๙๑.
๒. ศราวุฒิ วิสาพรม. ๒๕๕๙. ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕. นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชน.
๓. นิตยสารสารคดี. ม.ป.ป. ย้อนอดีต ๖ เรื่องรื่นเริงที่เคยเกิดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ (Online).
https://www.sarakadeelite.com/.../thailand-constitution.../, สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔.
๔. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. ม.ป.ป. งานฉลองรัฐธรรมนูญ-มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค (Online). https://parliamentmuseum.go.th/ar63-feast.html, สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 3350 ครั้ง)