...

แผนที่แมคคาร์ธี
การทำแผนที่แบบตะวันตกเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มต้นจากการที่นายเฮนรี่ อาละบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ราชทูตอังกฤษประจำสยามและที่ปรึกษาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลคำแนะนำการทำนุบำรุงบ้านเมืองแบบตะวันตกหลายประการ รวมทั้งการสำรวจและทำแผนที่ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สำรวจทำแผนที่ในกรุงเทพฯ แผนที่เพื่อวางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ไปเมืองพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม
พ.ศ. ๒๔๒๓ รัฐบาลอังกฤษได้ขออนุญาตรัฐบาลสยามให้สถาบันการแผนที่อินเดียทำการวางโครงข่ายสามเหลี่ยม สายเขตแดนตะวันออก โดยเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ที่ภูเขาทอง และจุดตรวจสอบที่พระปฐมเจดีย์ และโยงต่อออกไปจนถึงบริเวณปากอ่าว เพื่อจะได้โยงยึดเข้าด้วยกันกับสายหมุดหลักฐานที่สถาบันการแผนที่อินเดียได้ทำเข้ามาทางทะเล สำหรับใช้สำรวจแผนที่ทางทะเล ซึ่งมีนายร้อยเอก เอช ฮิลล์ (H. Hill) เป็นหัวหน้ากองแผนที่ นายเจมส์ แมคคาร์ธี (James McCARTHY) เป็นผู้ช่วย และเป็นผู้นำระบบโครงข่ายสามเหลี่ยมเข้ามา ถือเป็นพื้นฐานการทำแผนที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และโปรดเกล้าฯ ให้นายอาละบาสเตอร์ ดำเนินการ ในเวลานั้น นายอาละบาสเตอร์ ได้กราบบังคมทูลเสนอให้นายแมคคาร์ธี เข้ามารับราชการในสยามหลังจากปฏิบัติงานของสถาบันการแผนที่อินเดียเสร็จสิ้น
ในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากรมทำแผนที่ขึ้น โดยมีพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) เป็นเจ้ากรมทำแผนที่คนแรก แผนที่หลักระวางแรกที่กรมแผนที่จัดทำขึ้น เป็นแผนที่พระราชอาณาจักรสยาม “Map of The Kingdom of Siam and its Dependencies” หรือเรียกตามชื่อเจ้ากรมแผนที่ ว่า “แผนที่แมคคาร์ธี” ส่งไปพิมพ์ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ภายในแผนที่มีส่วนแทรกเป็นแผนที่ผังเมืองขนาดย่อ ๓ เมือง ได้แก่ เมืองกรุงเทพฯ เมืองเชียงใหม่ และเมืองหลวงพระบาง
ต่อมา ราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรจะจัดพิมพ์แผนที่ราชอาณาจักรสยาม เพื่อแนบไปกับหนังสือ SURVEYING AND EXPLORING IN SIAM ที่นายแมคคาร์ธี เจ้ากรมทำแผนที่ได้เขียนไว้ ราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรจึงได้มอบหมายให้นายเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สไมลส์ (Herbert Warington Smyth) เป็นผู้ปรับแก้แนวเขตแดนของสยามในแผนที่ที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรก (พ.ศ. ๒๔๓๐) ให้ตรงกับอาณาเขตที่มีอยู่จริงใน พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) เนื่องจากสยามเสียดินแดนส่วนหนึ่งทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งในการจัดพิมพ์แผนที่ครั้งที่ ๒ นี้ ได้นำแผนที่ผังเมืองขนาดย่อ ๓ เมือง ได้แก่ เมืองกรุงเทพฯ เมืองเชียงใหม่ และเมืองหลวงพระบาง ลงพิมพ์แทรกไว้เช่นเดียวกับการจัดพิมพ์ครั้งแรกด้วย แต่ในส่วนของแผนที่ผังเมืองเชียงใหม่ พบว่ามีการปรับเพิ่มแนวสะพานพระเจ้าอินทวิชยานนท์ข้ามลำน้ำปิง (ขัวกุลา) หรือ สะพานหมอชีกเข้าไปด้วย
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. วรชาติ มีชูบท. ๒๕๖๐. ย้อนอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
๒. มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร. ม.ป.ป. “ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย.” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เล่มที่ ๑๒ เรื่องที่ ๑๐ แผนที่. (Online).   
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php..., สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔.
๓. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม.  ๒๕๖๔. เบื้องหลังการทำแผนที่เมืองไทย “ฉบับแรก” ในสมัยรัชกาลที่ ๕
 (Online).   https://www.silpa-mag.com/history/article_64436, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 7515 ครั้ง)