หมอเจ้าฟ้า (ตอนที่ ๑)
หมอเจ้าฟ้า (ตอนที่ ๑)
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช หลังพระราชพิธีโสกันต์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยม Harrow ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารในประเทศเยอรมนี พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระยศเป็นนายเรือตรีและนายเรือโทในกองทัพเรือเยอรมนี เสด็จกลับสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและเข้ารับราชการในกองทัพเรือสยาม จากนั้นได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการกองทัพเรือ แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ และสถาบันเทคนิควิทยาแห่งแมสซาชูเซตส์ ด้วยทรงเห็นว่าการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยในเวลานั้นยังล้าหลังอยู่มาก
ระหว่างที่ทรงศึกษา พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนากิจการแพทย์สยามควบคู่กันไป ได้แก่ การส่งนักเรียนแพทย์ไทยไปศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่ในต่างประเทศ จัดหาอาคารเรียน อาคารรับผู้ป่วย อาคารปฏิบัติงานทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงประทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งยังทรงขอร้องพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ให้เป็นทุนการศึกษาหรือทุนสร้างอาคารสถานที่ นอกจากนี้ ยังทรงเจรจาติดต่อขอความร่วมมือและความช่วยเหลือในกิจการแพทย์กับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งผลสำเร็จในครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อกิจการแพทย์สยามอย่างมากและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมและวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ในพ.ศ. ๒๔๗๑ จึงเสด็จกลับสยาม เพื่อนำความรู้ทั้งทางการแพทย์และสาธารณสุขมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. รุ่งทิพย์ สุวรรณอภิชน. ๒๕๕๙. เจ้าดารารัศมี: พระศรีมิ่งเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: เม็ดทรายพริ้นติ้ง.
๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ๒๕๕๙. เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช หลังพระราชพิธีโสกันต์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยม Harrow ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารในประเทศเยอรมนี พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระยศเป็นนายเรือตรีและนายเรือโทในกองทัพเรือเยอรมนี เสด็จกลับสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและเข้ารับราชการในกองทัพเรือสยาม จากนั้นได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการกองทัพเรือ แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ และสถาบันเทคนิควิทยาแห่งแมสซาชูเซตส์ ด้วยทรงเห็นว่าการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยในเวลานั้นยังล้าหลังอยู่มาก
ระหว่างที่ทรงศึกษา พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนากิจการแพทย์สยามควบคู่กันไป ได้แก่ การส่งนักเรียนแพทย์ไทยไปศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่ในต่างประเทศ จัดหาอาคารเรียน อาคารรับผู้ป่วย อาคารปฏิบัติงานทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงประทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งยังทรงขอร้องพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ให้เป็นทุนการศึกษาหรือทุนสร้างอาคารสถานที่ นอกจากนี้ ยังทรงเจรจาติดต่อขอความร่วมมือและความช่วยเหลือในกิจการแพทย์กับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งผลสำเร็จในครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อกิจการแพทย์สยามอย่างมากและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมและวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ในพ.ศ. ๒๔๗๑ จึงเสด็จกลับสยาม เพื่อนำความรู้ทั้งทางการแพทย์และสาธารณสุขมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. รุ่งทิพย์ สุวรรณอภิชน. ๒๕๕๙. เจ้าดารารัศมี: พระศรีมิ่งเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: เม็ดทรายพริ้นติ้ง.
๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ๒๕๕๙. เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
(จำนวนผู้เข้าชม 1743 ครั้ง)