...

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
หลังจากมิชชันนารีในสังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยาม ได้สนใจขยายงานมายังหัวเมืองล้านนา โดยศาสนาจารย์
แดเนียล แมคกิลวารี (Rev. Daniel Mc Gilvary) ได้แสดงความประสงค์ต่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เพื่อขออนุญาตขึ้นมาปฏิบัติงานที่เชียงใหม่และชี้แจงถึงความจำเป็นในการเปิดมิชชันที่เชียงใหม่ต่อคณะกรรมการมิชชันต่างประเทศขององค์กรคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในสหรัฐอเมริกา เพราะเห็นว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์มีท่าทีตอบรับ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าวัตถุประสงค์ของมิชชันนารีจะเป็นประโยชน์และนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น นั่นคือ การเผยแพร่คริสต์ศาสนา การจัดตั้งโรงเรียนและการรักษาผู้ป่วย
เมื่อมีการติดต่อประสานงานกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เคยสนิทสนมกับมิชชันนารีมาก่อน จึงทำให้สามารถดำเนินการได้ด้วยดี
ศาสนาจารย์แมคกิลวารีและนางโซเฟีย แมคกิลวารี เข้ามาถึงเชียงใหม่ ในพ.ศ. ๒๔๑๐ ได้อาศัยศาลาย่าแสงคำมาที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรหลักของชุมชนเป็นที่พัก จึงเป็นโอกาสในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาให้กับชาวบ้าน รวมถึงให้คำปรึกษาและรักษาคนไข้ ในระยะแรกมิชชันนารีประสบปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยของคนท้องถิ่นที่ไม่อาจรักษาได้และการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวมิชชันนารีเอง จึงต้องการแพทย์เข้ามารับผิดชอบงานนี้โดยตรง เพื่อตอบสนองความจำเป็นในครอบครัวและเผื่อแผ่ไปสู่คนท้องถิ่นด้วย
พ.ศ. ๒๔๒๕ คณะกรรมการฝ่ายต่างประเทศของคณะมิชชันที่สหรัฐอเมริกา ได้ส่งนายแพทย์ชาร์ล วรูแมน มาเป็นแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่เชียงใหม่ ทำให้การแพทย์แบบตะวันตกเป็นที่รู้จักของชาวล้านนามากขึ้น ต่อมาส่งนายแพทย์แมเรียน เอ ชีค เข้ามารับงานนี้ จากนั้น นายแพทย์ เอ.เอ็ม.แครี่ เข้ามารับผิดชอบในระยะสั้น ๆ การแพทย์ตะวันตกในเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นได้มีการนำยาสามัญราคาถูกมาขายให้คนท้องถิ่น เพื่อให้คนรู้จักและเห็นความสำคัญของยาและการแพทย์สมัยใหม่ โดยแพทย์สามารถขายยาเป็นค่าตอบแทนเลี้ยงชีพ แต่ยังคงมีลักษณะกึ่งการกุศล นอกจากนี้ คณะมิชชันนารีในเชียงใหม่ ได้ปรับปรุงสถานที่จำหน่ายยาเป็นโรงพยาบาลขึ้น ชื่อว่า “โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น” ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง สามารถรับคนไข้ได้ ๘-๑๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้เปิดให้การรักษาผู้ป่วยและทำการผ่าตัดเป็นต้นมา นับว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองในสยามและเป็นโรงพยาบาลแรกในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรงพยาบาลแมคคอร์มิคปัจจุบัน
การดำเนินงานเริ่มมีความมั่นคงขึ้นเมื่อนายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน เข้ามารับผิดชอบใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น การผลิตหนองฝีในการป้องกันโรคฝีดาษที่ระบาดในเวลานั้น เป็นผู้นำเครื่องทำยาเม็ดควีนิน เข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำยาเม็ดควีนิน จำหน่ายและแจกจ่ายแก่ประชาชนในเชียงใหม่และภูมิภาคในการบำบัดรักษาโรคไข้มาลาเรีย ต่อมานายแพทย์แมคเคนได้จัดตั้งสถานรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนเกาะกลางแม่น้ำปิง ส่วนโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น มีนายแพทย์เอ็ดวิน ซี.คอร์ท เข้ามารับผิดชอบแทน ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีประชาชนมารักษามากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลแออัดมาก นายแพทย์คอร์ทได้คิดทำการสร้างโรงพยาบาลใหม่ขึ้น ด้วยความเห็นชอบของคณะมิชชันนารีและด้วยเงินบริจาค ๒๕,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ของ Mrs. Nettic Fowler McComick ภรรยาของ Mr. Cyrus Hall McCormick จากทุนทรัพย์นี้และได้รับสมทบจากเจ้านายฝ่ายเหนือและพ่อค้าคหบดีชาวเชียงใหม่ นายแพทย์คอร์ท จึงซื้อที่นา จำนวน ๕๐ ไร่ที่บ้านหนองเส้ง และบริษัทบอร์เนียว จำกัด ได้บริจาคที่ดินให้เพิ่มเติมอีก จึงได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” เพื่อเป็นเกียรติแก่ Mrs. Nettic Fowler McComick ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๔ ปี นับว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุด มีอุปกรณ์การแพทย์จากสหรัฐอเมริกาและรับผู้ป่วยค้างคืนได้ ๑๐๐ เตียง มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยหม่อมสังวาลย์ (พระยศในขณะนั้น) และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลไทยได้เข้าควบคุมกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม และเปลี่ยนชื่อเป็น
“โรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์” เมื่อสงครามโลกสงบ รัฐบาลไทยจึงส่งมอบโรงพยาบาลคืนให้กับคณะมิชชันนารีดำเนินการต่อไป และใช้ชื่อ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ดังเดิม
หลังจากนายแพทย์คอร์ทเกษียณอายุการทำงาน จึงพาครอบครัวเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา คณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนจึงมอบโรงพยาบาลแมคคอร์มิคและกิจการทั้งหมดให้แก่มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ดูแล นับจากนั้นโรงพยาบาลแมคคอร์มิคจึงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคนไทยมาจนปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.  ๒๕๕๗. “สายสัมพันธ์กับมิชชันนารีอเมริกัน.” ใน วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ (บรรณาธิการ).  เจ้าดารารัศมี.  เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, ๑๒๑-๑๓๑.
๒. ถนอม ปินตา และ พิษณุ อรรฆภิญญ์. ๒๕๒๕. พระคุณพระเจ้าในรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เอกลักษณ์ดีไซน์
๓. โรงพยาบาลแมคคอร์มิค. ม.ป.ป. ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค (Online). https://www.mccormickhospital.com/web/aboutus, ๑ กันยายน ๒๕๖๔.
๔. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๑. “แมคคอร์มิค” โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/869246/, ๑ กันยายน ๒๕๖๔.
๕. หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. ๒๕๖๓. พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า-พยาบาลสถานแห่งการให้ (Online). https://km.li.mahidol.ac.th/prince-mahidol-museum-at.../, ๑ กันยายน ๒๕๖๔.





(จำนวนผู้เข้าชม 2738 ครั้ง)


Messenger