...

สัปคับและกูบช้าง
สัปคับและกูบช้าง
 ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ ช้าง เป็นพาหนะสำหรับเดินทางในพื้นที่ภาคเหนือ จะพบภาพการนำคณะมิชชันนารีไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในถิ่นห่างไกลทางภาคเหนือและในเมืองเชียงตุงของรัฐฉาน เมืองสิบสองปันนา ภาพคนงานใส่สัปคับ และภาพที่มีการใส่กูบเพื่อกันแดดกันฝนในการเดินทาง นอกจากภาพการเดินทางโดยใช้ช้างแล้วยังพบภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งมีพิธีรับเสด็จเข้าเมืองกับพิธีทูลพระขวัญตามธรรมเนียมหัวเมืองฝ่ายเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการนำช้างจากเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือเข้าร่วมขบวน โดยมีการใส่สัปคับและกูบที่สวยงามไว้ที่หลังของช้าง
 คำว่า สัปคับ (น.) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ มีความหมายว่า ที่สำหรับนั่งผูกติดบนหลังช้าง ในภาษาถิ่นเหนือหรืออีสาน เรียกว่า แหย่ง ซึ่งมักใช้ประกอบกับหลังคาด้านบน คือกูบ
 ส่วนในหนังสือ สารพจนานุกรมล้านนา พบคำว่า กูบ มีความหมาย ว่า หลัง
ครอบ ส่วนที่ครอบสิ่งอื่นไว้ และอธิบายคำว่า กูบช้าง หมายถึง หลังคาครอบแหย่ง (ที่นั่ง) ช้าง คือประทุนครอบกันฝนและร้อน หนาว คำว่ากูบใช้ได้กับสัตว์อีกชนิดคือม้า และใช้ได้กับรถกูบ หรือ รถที่มีหลังคาครอบ คือ ประทุน หรือผตีน
 ปัจจุบันพบว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน ได้เก็บรักษาสัปคับพร้อมกูบของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายไว้ แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดแสดงเฉพาะสัปคับไม้ลงรักปิดทอง ตัวเป็นลวดลายแบบจีน ด้านหน้ามีรูปค้างคาวและรูปขุนนางจีน ๔ คน ขอบสลักเป็นรูปนกเกาะกิ่งไม้ ขาและมุมทั้งสี่สลักเป็นรูปหัวมังกร โดยพระมหาธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยืมมาจัดแสดง
 จากภาพเห็นได้ว่าสัปคับและกูบของคณะมิชชันนารีทำขึ้นแบบง่ายใช้สำหรับการนั่งหลบฝนและแดดในระหว่างการเดินทาง ส่วนสัปคับและกูบของผู้มีฐานะจะทำขึ้นอย่างสวยงาม มีลวดลายวิจิตรบรรจง สำหรับการใช้ในขบวนพิธี
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ :
๑.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่  
๒.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน.
อ้างอิง :
๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. จ.เชียงใหม่: ดาวคอม
พิวกราฟิก.
๒. บุญเสริม สาตราภัย. ๒๕๕๔. เชียงใหม่ในความทรงจำ. เชียงใหม่: Sansilp Printing.
๓. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสถาบันพระปกเกล้า.๒๕๕๘.จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙.กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง.
๔. ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๔. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพมหานคร: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น.
๕. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน.ม.ป.ป.“สัปคับ”(Online). https://www.finearts.go.th/hariphunchaimuseum/view/23555-สัปคับ,๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔.
๖. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่.ม.ป.ป. “วัตถุที่จัดแสดง” (Online). http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/chiangmai/index.php/th/event/วัตถุที่จัดแสดง.html,๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔.

















(จำนวนผู้เข้าชม 3981 ครั้ง)


Messenger