รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับจำลอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับจำลอง
รัฐธรรมนูญไทยเริ่มมีใช้ครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว หลังจากนั้นถูกยกเลิกแล้วเปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งรัฐบาลระบอบใหม่พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เช่น การส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจากสภาผู้แทนราษฎรออกไปทำการประชาสัมพันธ์ในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ การใช้วิทยุกระจายเสียง การให้ผู้แทนราษฎรทำการประชาสัมพันธ์เรื่องกิจการของรัฐ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาหาทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงอยู่ได้ การก่อตั้งสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน มีจดหมายถึงคณะรัฐมนตรี จำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรกเสนอว่ารัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนอัญเชิญรัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนเมื่อหมดสมัยประชุม และฉบับที่ ๒ ขอให้จัดทำ “รัฐธรรมนูญจำลอง” เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักที่พึ่ง ทั้งยังเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญด้วย รัฐบาลจึงเห็นควรให้สร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น สำหรับนำไปประดิษฐานไว้ทุกจังหวัด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแล ในฐานะเลขาธิการสมาคมคณะรัฐธรรมนูญและอธิบดีกรมศิลปากร ได้มีการประสานงานกับหลวงประดิษฐมนูธรรมเกี่ยวกับการออกแบบ ซึ่งได้จัดทำออกมาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทอง วางบนพาน ๒ ชั้น โดยช่างฝีมือของกรมศิลปากร จำนวน ๗๐ ชุด แจกจ่ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุด เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางแต่ละจังหวัด อีก ๑ ชุด สำหรับประดิษฐาน ณ ที่ทำการใหญ่ของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ พระราชอุทยานสราญรมย์
วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลจัดพิธีส่งมอบพานรัฐธรรมนูญให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีพิธีเวียนเทียนสมโภช และนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ระหว่างรอการส่งมอบให้แต่ละจังหวัด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับจำลอง ที่ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบโดยพระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันทน์) และหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ โดยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาอ้างอิงต่อไป
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. ชาญคณิต อาวรณ์. ๒๕๕๒. “สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๐” หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ ๖ (กันยายน ๒๕๕๒-สิงหาคม ๒๕๕๓): ๕๓-๖๘.
๒. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๔๐. การปฎิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์วิชาการ.
๓. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ๒๕๖๓. พานรัฐธรรมนูญ : การช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ (Online). https://www.silpa-mag.com/history/article_51893, ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔.
รัฐธรรมนูญไทยเริ่มมีใช้ครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว หลังจากนั้นถูกยกเลิกแล้วเปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งรัฐบาลระบอบใหม่พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เช่น การส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจากสภาผู้แทนราษฎรออกไปทำการประชาสัมพันธ์ในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ การใช้วิทยุกระจายเสียง การให้ผู้แทนราษฎรทำการประชาสัมพันธ์เรื่องกิจการของรัฐ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาหาทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงอยู่ได้ การก่อตั้งสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน มีจดหมายถึงคณะรัฐมนตรี จำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรกเสนอว่ารัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนอัญเชิญรัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนเมื่อหมดสมัยประชุม และฉบับที่ ๒ ขอให้จัดทำ “รัฐธรรมนูญจำลอง” เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักที่พึ่ง ทั้งยังเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญด้วย รัฐบาลจึงเห็นควรให้สร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น สำหรับนำไปประดิษฐานไว้ทุกจังหวัด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแล ในฐานะเลขาธิการสมาคมคณะรัฐธรรมนูญและอธิบดีกรมศิลปากร ได้มีการประสานงานกับหลวงประดิษฐมนูธรรมเกี่ยวกับการออกแบบ ซึ่งได้จัดทำออกมาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทอง วางบนพาน ๒ ชั้น โดยช่างฝีมือของกรมศิลปากร จำนวน ๗๐ ชุด แจกจ่ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุด เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางแต่ละจังหวัด อีก ๑ ชุด สำหรับประดิษฐาน ณ ที่ทำการใหญ่ของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ พระราชอุทยานสราญรมย์
วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลจัดพิธีส่งมอบพานรัฐธรรมนูญให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีพิธีเวียนเทียนสมโภช และนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ระหว่างรอการส่งมอบให้แต่ละจังหวัด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับจำลอง ที่ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบโดยพระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันทน์) และหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ โดยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาอ้างอิงต่อไป
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. ชาญคณิต อาวรณ์. ๒๕๕๒. “สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๐” หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ ๖ (กันยายน ๒๕๕๒-สิงหาคม ๒๕๕๓): ๕๓-๖๘.
๒. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ๒๕๔๐. การปฎิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์วิชาการ.
๓. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. ๒๕๖๓. พานรัฐธรรมนูญ : การช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ (Online). https://www.silpa-mag.com/history/article_51893, ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 2082 ครั้ง)