...

องค์ความรู้เรื่อง สวนโมกขพลาราม หรือชื่อเรียกทางการว่า “วัดธารน้ำไหล”
         สวนโมกขพลาราม หรือชื่อเรียกทางการว่า “วัดธารน้ำไหล”  จัดตั้งขึ้นโดยพระธรรมโกศาจารย์   (พุทธทาสภิกขุ) ตั้งอยู่ที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 อำเภอไชยา จังหวัด           สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงในประเทศและไปทั่วโลก
.
 ตามประวัติการก่อตั้ง สวนโมกขพลาราม เดิมที่ได้สร้างขึ้นในวัดตระพังจิก ซึ่งเป็นวัดร้าง ณ หมู่บ้านพุมเรียง ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ท่านเข้ามาอยู่ที่นี้เมื่อวันวิสาขบูชา วันที่ 12 พฤษภาคม 2548 ต่อมาได้ย้ายเข้ามาสร้างใหม่ที่เขาพุทธทอง (จุดที่ตั้งปัจจุบัน) มีเนื้อที่ประมาณ 375 ไร่ วัดแห่งนี้ผู้คนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่าสวนโมกข์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลารามตามความหมายที่ปรากฏบนแผ่นป้ายของวัด อธิบายว่า “ต้นโมก ต้นพลา มีชื่อพ้องกับสวนโมกขพลาราม โมกะ แปลว่าหลุดพ้น , พละ แปลว่า กำลัง , อาราม แปลว่า ที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ สวนป่าอันเป็นกำลังหลุดพ้น” 
 
 จุดสำคัญที่อธิบายอยู่ในแผนที่บริเวณวัด ได้แก่
 1. กุฎิอาจริยบูชาท่านพุทธทาส หรือเรียกว่ากุฎท่านอาจารย์ ปัจจุบันเป็นหลังที่ 3 มีรูปหล่อพุทธทาสภิกขุให้ผู้ศรัทธาได้เคารพระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อพุทธศาสนา ถัดออกมาเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์
อวโลกิเตศวร ประดิษฐานหน้าลานหญ้า “พระพุทธทาสได้จัดสร้างจากต้นแบบที่เป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์เก่าแก่ 
ซึ่งพบที่เมืองไชยา เป็นสัญลักษณ์ของสุทธิ ปัญญา เมตตาและขันติ 
 
 2. ลานหินโค้ง เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์และผู้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งในแผนที่บริเวณวัดได้อธิบายเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ไว้ว่า “เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสวนโมกข์ ที่เอื้อต่อการศึกษาปฏิบัติธรรมมากที่สุด สะท้อนแนวคิดของพุทธทาสภิกขุว่า มาสวนโมกข์ต้องได้พูดคุยกับต้นไม้ ก้อนหิน และได้เรียนรู้เรื่องธรรมะที่ปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง ปัจจุบันเป็นที่ตักบาตรสาธิต ทำวัตรสวดมนต์ แสดงธรรม นั่งวิปัสสนา กิจธรรมเริ่มตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง” 
 
 3. โรงมหรสพทางวิญญาณ ภายในมีสองชั้น กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 100 เมตร ภายนอกอาคารเป็นภาพแกะสลักชุดพุทธประวัติรอบอาคาร บริเวณด้านข้างอาคารมีก้อนหินวางเป็นระยะ บนผนังและเสาของอาคารมีภาพปริศนาธรรมมากมาย และภาพของท่านพุทธทาสเมื่อครั้งเดินทางไปอินเดีย เมื่อ ปี พ.ศ. 2498 
 
 4. สระนาฬิเกร์ และธารน้ำไหล บนเกาะกลางสระน้ำภายในวัด ที่แห่งนี้เป็นสระน้ำขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร กลางสระเป็นเกาะเล็กๆ เนื้อที่ประมาณ 5 ตารางเมตร มีต้นมะพร้าวเล็กๆ ปลูกอยู่หนึ่งต้น ท่านพุทธทาสตั้งใจให้สระนาฬิเกร์นี้ เป็นสื่อในการสอนธรรมะอีกอย่างหนึ่งว่า “นิพพนานนั้นอยู่ท่ามกลางวัฏฏะสงสาร”
 
 5. โบสถ์บนเขาพุทธทอง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กลางแจ้งบนเขาพุทธทอง เป็นที่ตั้งอุโบสถแบบสวนโมกข์ เป็นโบสถ์พื้นดินตามธรรมชาติอย่างที่เคยมีในครั้งพุทธกาล ธรรมชาติที่มีอยู่โดยรอบบริเวณ เปรียบเสมือนอาคารของโบสถ์ มีเสาปักไว้โดยรอบกำหนดเขต เพื่อใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม
 
 6. อาคารสร้างคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่ 2 ลำ ลำแรกชื่อว่า ธรรมวารีนาวาอิสรกุลนฤมิต เป็นอาคารอเนกประสงค์ “อุปมาเหมือนเป็นเรือข้ามฟากหรือข้ามวัฏสงสารให้พ้นจากความทุกข์ ข้ามฟากจากความมีทุกข์ไปสู่ความไม่มีทุกข์ จากความโง่ไปสู่ความฉลาดอิงกับพุทธปรัชญา นาวาแห่งธรรมนำสรรพสัตว์ข้ามห้วงแห่งทุกข์” ลำที่ 2 ชื่อว่า เรือใหญ่หรือธรรมวารีนาวา อธิบายว่า “ชั้นล่างเป็นที่เก็บน้ำฝน ชั้นบนเป็นศาลาอเนกประสงค์สำหรับประชุม ฟังเทศน์เวลาฝนตก ที่หัวเรือเป็นที่ตั้งของห้องสมุดโมกขบรรลัย”
 
 “สวนโมกขพลาราม” นี้ ถือเป็นสถานปฏิบัติธรรมชั้นแนวหน้าของเมืองไทยเป็นแหล่งบ่มเพาะเรียนรู้พระพุทธศาสนา ที่มีผู้ศรัทธามากแห่งหนึ่ง ด้วยภายในอาณาบริเวณของสวนโมกข์ มีความร่มรื่น 
สงบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม กล่อมเกลาจิตใจและศึกษาพระพุทธศาสนา มีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยภาพศิลป์ บทกวี คติธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายต่างๆ รวมถึงพุทธประวัติ และภาพจำลองจากภาพหินสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติในอินเดีย และบริเวณไม่ไกลจากสวนโมกข์ มีส่วนรุกขชาติเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมพันธ์ไม้ที่มีค่าไว้มากมาย
 
อ้างอิง
- พระมหาสุรชัย ชยาภิวฑฺฒโน (พุดชู), พุทธปรัชญาเซนในสวนโมกขพลาราม (วิทยานิพนธ์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2563), หน้า 39-40.
- Surat vans. (2564). สวนโมกขพลาราม, สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564. จาก. https://www.suratvans.com/suan-mokh/
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สวนโมกขพลาราม7.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 46134 ครั้ง)


Messenger